กรุงเทพฯ 11 พฤษภาคม 2560 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ มุ่งเน้นการผนวกสาขาวิชาที่แตกต่างทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสหวิทยาการเข้าด้วยกัน กว่า 20 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรการจัดการออกแบบธุรกิจและเทคโนโลยี หลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ หลักสูตรการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ หลักสูตรโลกคดีศึกษาและการประกอบการสังคม วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ฯลฯ โดยกลุ่มหลักสูตรดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนของการศึกษาโลกที่ให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้หลายด้านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการพัฒนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพบัณฑิตของ มธ. ที่ได้รับการจัดอันดับด้าน QS Graduate Employability Rankings 2017 หรืออันดับโลกมหาวิทยาลัยที่เตรียมนักศึกษาสำหรับการทำงานดีที่สุด โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแห่งเดียวในประเทศที่ติดอันดับมา 2 ปีซ้อน

ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่าการที่ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ กลไกที่สำคัญคือบุคคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นแต่ต้องประกอบกันในทุกด้าน ทั้งความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศิลปศาสตร์ รวมถึงด้านสหวิทยาการ และต้องมีความเป็นสากลควบคู่กันด้วย ทำให้ มธ. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำอาเซียนเล็งเห็นความสำคัญของผู้เรียนว่าควรได้รับการศึกษาที่มีความหลากหลาย และสามารถนำความรู้ในการใช้ชีวิตจริงมาผนวกกับหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เมื่อก่อนสถาบันการศึกษาไทยจำกัดอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนมีความรู้เพียงด้านเดียว ซึ่งเมื่อจบออกไปสู่ตลาดแรงงานแล้วอาจพบว่าทักษะที่เรียนมาไม่มีความเพียงพอ

ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด กล่าวต่อว่า ในระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา มธ.ได้พัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้สอดรับกับตลาดแรงงานซึ่งแต่ละหลักสูตรนำความแตกต่างของวิชามาผนวกรวมกันได้อย่างลงตัว อาทิ หลักสูตรการจัดการออกแบบธุรกิจและเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของหลักสูตรที่มีความแปลกใหม่จากเดิม โดยการนำความรู้ด้านศิลปะมาควบรวมกับด้านธุรกิจที่ผู้เรียนจะไม่ใช่แค่การสเก็ตภาพแต่จะเรียนรู้ถึงประวัติทางเศรษฐศาสตร์การเล่าเรื่องและการสื่อสารด้วยภาพจิตวิทยาสำหรับการออกแบบในการวางแผนธุรกิจการวิจัยการตลาดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมรวมถึงนวัตกรรมการออกแบบ Eco-Design และนวัตกรรมการออกแบบบริการ รวมถึงมีการสอนวิชากฎหมายเศรษฐศาสตร์และภาษีอากร โดยได้รับความร่วมมือจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.และสถาบันวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมประเทศอังกฤษ ความพิเศษของหลักสูตรไม่ใช่เพียงแค่การนำความแตกต่างของแต่ละด้านมารวมกันแต่อยู่ที่การเป็นปริญญาตรีควบปริญญาโท ด้านการออกแบบแห่งแรกของไทย

รวมไปถึง หลักสูตรวิชาโลกคดีศึกษา วิทยาลัยโลกคดีศึกษา โดยหลักสูตรนี้จะเน้นปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำความคิด ในการพัฒนากิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยใช้ยุทธศาสตร์แบบกลไกตลาดเพื่อเป้าหมายทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการเงินไปพร้อม ๆ กัน เช่นการสร้างรายได้นั้น มีขึ้นเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นเหมือนกิจการทั่วไปผ่านการเรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านสังคม การสื่อสารภาวะผู้นำการบริหารจัดการ การสร้างนวัตกรรม และการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อให้นักศึกษามีมุมมองที่หลากหลาย ได้ทดลองแก้ปัญหาจริงและอัดแน่นไปด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่นายจ้างทุกองค์กรกำลังต้องการในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มธ. ได้พัฒนาหลักสูตรกลุ่มใหม่ดังกล่าวมากกว่า 20 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรปริญญาตรีควบโทการจัดการออกแบบธุรกิจและเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง หลักสูตรวิชาโลกคดีศึกษาและการประกอบการสังคม วิทยาลัยโลกคดีศึกษา หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ ฯลฯนอกจากนี้ในหลักสูตรเดิมอันเป็นหลักสูตรคุณภาพที่สร้างชื่อเสียงให้กับ มธ. มาอย่างยาวนานอันเป็นที่ประจักษ์ในวงการการศึกษาทั่วโลกนั้น มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้หยุดการพัฒนาหลักสูตร โดยยังคงมีการเพิ่มความเป็นสากลบางหลักสูตรมีการเพิ่มหลักสูตรนานาชาติ 2-3 ภาษาเพื่อให้ผู้เรียนที่จบออกไปสามารถไปประกอบอาชีพในระดับสากลได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

ทั้งนี้การเรียนการสอนของ มธ. เริ่มมีการประยุกต์ให้คล้ายคลึงกับการเรียนในระดับอุดมศึกษาของต่างประเทศ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ที่ให้ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าประสงค์เรียนในด้านใด โดยไม่มีการจำกัดเป็นคณะ ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนสาขาที่มีความตรงกันข้ามได้ ทำให้นักศึกษาไม่ได้จำกัดความรู้อยู่เพียงด้านเดียว แต่สามารถนำความรู้ที่ได้หลายด้านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่นายจ้างมีความต้องการจนทำให้มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้รับรางวัลถึง 5 อันดับของ QS Graduate Employability Rankings 2017 หรืออันดับโลกมหาวิทยาลัยที่เตรียมนักศึกษาสำหรับการทำงานดีที่สุดโดย มธ.เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศที่ติดอันดับมา 2 ปีซ้อน ซึ่งถือเป็นจุดนิมิตรหมายอันดีที่สะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตได้ตามความต้องการของตลาด

สำหรับประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานทะเบียนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440 เว็บไซต์ www.reg.tu.ac.th