เทรนด์การเดินป่า หรือ เทรกกิ้ง เป็นเทรนด์กิจกรรมยอดฮิตสำหรับหนุ่มสาวขาลุยรุ่นใหม่ ที่มองว่า วันหยุดพักผ่อนทั้งที ต้องชวนกลุ่มเพื่อนสายลุยไปทำกิจกรรมอะไรที่ไม่ธรรมดา บางคนได้ลองเทรกกิ้งแล้วถึงกับติดใจในเสน่ห์ของกิจกรรมนี้สุดๆ ถึงขั้นตั้งเป้าหมายว่าในปีหนึ่งๆ จะต้องเทรกกิ้งให้ได้จำนวนกี่ครั้ง รวมทั้งต้องได้ไปเยือนป่าทั่วประเทศไทยที่เขาว่ากันว่ามีเส้นทางที่ท้าทาย แต่ก็สวยงามคุ้มค่าการไปเยือน
การเดินป่าครั้งหนึ่ง ทำให้เราได้รับประโยชน์มากมาย ทั้งการมีวินัยทางสุขภาพ เพราะการจะไปเดินป่าแต่ละครั้งก็ต้องเตรียมฟิตร่างกายให้พร้อม รวมถึงในระหว่างเดินป่า ก็ต้องอาศัยความอดทนของร่างกาย ในการพิชิตเป้าหมายในแต่ละครั้ง เชื่อว่านักเดินป่าทั้งหลายต้องได้สุขภาพที่ดีขึ้นกลับมาแน่นอน นอกจากนี้ทุกๆ ครั้งที่ไปเดินป่า ยังทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา หลบหนีความวุ่นวาย และได้พักผ่อนไปกับธรรมชาติ อีกทั้งยังได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากเราจะได้รับประโยชน์มากมายจากการไปเดินป่า เราเองก็ยังสามารถคืนประโยชน์ให้กับธรรมชาติได้ รวมทั้งเรียนรู้ที่จะเทรกกิ้งอย่างไม่ทำลายธรรมชาติ ในทุกครั้งของการเดินป่า ผ่าน 5 กิจกรรมต่อไปนี้
- ไม่ทำลายระบบนิเวศด้วยการทิ้งขยะ – การไปเดินป่าแต่ละครั้ง เชื่อว่าเทรกเกอร์ทั้งหลายจะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเสบียงที่พร้อมลุยทุกสถานการณ์ เพราะไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าเราจะเจออะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ ในป่าน่าจะไม่มีร้านสะดวกซื้อเหมือนในเมืองแน่ๆ ดังนั้นการเตรียมเสบียงต่างๆ รวมทั้งของใช้ส่วนตัวไปให้พร้อม ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือก่อนกลับ ต้องมั่นใจว่าสิ่งของที่เรานำเข้าไป ก็จะต้องนำออกมาทิ้งข้างนอก เพื่อไม่เป็นการรบกวนธรรมชาติ และสัตว์ป่า อย่าลืมว่าในป่าที่เป็นแหล่งธรรมชาติจริงๆ ไม่มีคนทำหน้าที่เก็บขยะให้เรา และถ้าหลายที่เดินทางเข้าไปและทิ้งขยะเอาไว้ในป่า ก็จะมีขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาต่อระบบนิเวศอย่างแน่นอน ดังนั้นนักเดินป่าทั้งหลายโปรดจำไว้ว่า “นอกจากความทุกข์ใจ ก็ไม่ควรทิ้งอะไรไว้ในป่า”
- ไม่รบกวนหรือรังแกสัตว์ป่า – ในป่าที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์มากๆ และยังคงมีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่มากมาย ย่อมเป็นเป้าหมายที่นักเดินป่าทั้งหลายต่างก็อยากไปสัมผัส หลายคนตั้งเป้าว่าการไปเดินป่าในแต่ละที่ จะได้เห็นสัตว์ป่าที่ขึ้นชื่อว่ายังอาศัยอยู่ในอุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นๆ เช่น เสือ กวาง ช้าง เป็นต้น แต่การไปเฝ้ารอดูสัตว์ต่างๆ ก็ต้องเป็นไปอย่างไม่รบกวนพวกเขา ประหนึ่งว่าเราไปเยือนบ้านเขา ก็ต้องให้เกียรติพวกเขา โดยการไม่เข้าไปทำลายร่องรอยที่สัตว์ป่าอาศัยอยู่ ไม่ส่งเสียงดังรบกวน ไม่ถ่ายรูปแบบใช้แฟลช รวมทั้งไม่พยายามเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์เหล่านั้น เพื่อไม่เป็นการรบกวนและยังไม่เสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย
- ตรวจสอบฤดูกาลเดินป่า ช่วงเวลาเปิด – ปิดของแต่ละที่ – ป่า แม้จะเป็นสถานที่ธรรมชาติ ไม่เหมือนแหล่งท่องเที่ยวหรือห้างสรรพสินค้าที่มีเวลาเปิด – ปิด เป็นประจำ แต่รู้หรือไม่ว่าป่าก็มีช่วงเวลาที่ไม่ให้คนเข้าไปเหมือนกัน แต่ละอุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะมีช่วงเวลาปิดป่าเพื่อการฟื้นฟู หรือช่วงที่ตรงกับฤดูการผสมพันธุ์ การโยกย้ายถิ่นฐานของสัตว์ป่า ช่วงเวลาเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องให้ระบบนิเวศทำหน้าที่ของมันอย่างไม่ถูกรบกวนโดยมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยของผู้เดินป่าที่เจ้าหน้าที่คำนึงถึง จึงได้ออกคำสั่งปิดป่าในช่วงฤดูต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีเด็กๆ 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ให้นักเดินป่าผู้พิชิตธรรมชาติ ต้องปฏิบัติตามกฎของพื้นที่ป่าเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และไม่กระทบต่อธรรมชาติ
- ปฏิบัติตามกฎของอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างเคร่งครัด – นอกจากการปฏิบัติตามข้อแนะนำทั้ง 3 ข้อข้างต้นแล้ว ในพื้นที่ป่าแต่ละพื้นที่ก็มีกฎระเบียบ ข้อปฏิบัติที่เป็นลักษณะเฉพาะ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่อุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นๆ เช่น ขอบเขตพื้นที่ที่สามารถเดินเท้าเข้าไปได้ จุดที่อนุญาตให้พักกางเต็นท์ สำหรับนักเดินป่าทั้งหลายที่มีแผนจะไปพิชิตพื้นที่ป่าในอุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ ก็จำเป็นต้องศึกษาข้อกำหนดของพื้นที่นั้นๆ ให้ละเอียด และปฏิบัติตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อป่าไม้และตัวเอง
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับผืนป่า – จะดีแค่ไหนถ้าทุกครั้งที่เราไปทำกิจกรรมเดินป่า เรายังสามารถเข้าไปเพิ่มต้นไม้ให้กับป่าได้อย่างน้อยสักคนละ 1 ต้น แต่ลำพังการจะไปเดินป่า ก็คงไม่มีใครพกพาต้นกล้าไปเพื่อปลูกป่าด้วยอย่างแน่นอน แต่เชื่อหรือไม่ว่าสมัยนี้การปลูกป่ามีวิธีง่าย สะดวก และยังสนุกสนาน ใครๆ ก็สามารถทำได้ นั่นก็คือการปลูกป่าด้วยการยิงเมล็ดพันธุ์พืชนั่นเอง ซึ่งการปลูกป่าด้วยวิธีนี้เป็นประโยชน์กว่าการปลูกป่าทั่วไป เพราะสามารถกระจายเมล็ดพันธุ์พืชที่ถูกยิงไปได้ไกลในบริเวณป่าลึก ทั้งยังไม่เป็นการรบกวนสัตว์ป่าอีกด้วย ที่สำคัญการปลูกป่าด้วยวิธียิงเมล็ดพันธุ์พืชยังทำได้ง่าย สามารถยิงเมล็ดพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การปลูกป่าด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในพื้นที่ป่านั้นๆ และสามารถอยู่รอดในระบบนิเวศในพื้นที่ป่าเหล่านั้นได้
และเนื่องในโอกาสวันแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือวันสืบ นาคะเสถียร ที่เพิ่งผ่านพ้นไป จึงอยากเชิญชวนให้นักเดินป่าทั้งหลายที่มีใจรักธรรมชาติ หันมาเดินป่าอย่างสร้างสรรค์ ตามกิจกรรมทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าของไทยให้นักเดินป่ารุ่นใหม่ๆ ได้เข้าไปค้นหา และเรียนรู้ธรรมชาติอันล้ำค่าที่เรายังคงมีอยู่ ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก็ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพื่อก้าวทันเทรนด์การเป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงได้ออกแบบกิจกรรมการปลูกป่าที่มีรูปแบบสนุกสนาน ผ่านการยิงเมล็ดพันธุ์มะค่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับผืนป่า อีกทั้งกระชับความสัมพันธ์ของคนในองค์กรอีกด้วย
นายศิโรโรตม์ เมธมโนศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นบทบาทนำในการเป็นผู้สร้างจิตสำนึก ความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศอย่างถูกต้อง ผ่านการส่งเสริมให้พนักงานทาทา สตีล ทุกคน ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่บริษัทจัดขึ้น และเห็นคุณค่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำเพื่อสังคม
โครงการ “ทาทา สตีล ปลูกป่าต้นน้ำเฉลิมพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ปี 3” จัดขึ้นในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา อ.เขาชะเมา จ.ระยอง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 80 คน ได้แก่ คณะผู้บริหารบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพนักงานจากสำนักงานใหญ่ของทาทา สตีล และพนักงานโรงงานผลิตเหล็กเส้นของทาทา สตีล จาก 3 โรงงาน ร่วมกันทำฝายชะลอน้ำแบบถาวร ขนาด 6 เมตร สร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์ดินและแหล่งน้ำ อีกยังพร้อมใจกันยิงเมล็ดมะค่า จำนวน 2,000 เมล็ด เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับผืนป่า อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ภายในองค์กร และตอบสนองเทรนด์กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เอาใจคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ทาทา สตีล ยังคงเดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับภายในปีนี้จะมีโครงการปลูกป่าโกงกางที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม รายละเอียดโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ โปรดติดตามต่อไป สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ส่วนสื่อสารและกิจกรรมองค์กร โทรศัพท์ 02-937-1000 หรือเข้าไปที่ www.tatasteelthailand.com