คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ NIDA จัดงาน การประชุมวิชาการธุรกิจระหว่างประเทศครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2562 เตรียมความพร้อมรับมือเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล ภายใต้หัวข้อ “Transforming Business to the Future” โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมพูดคุยแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคดิจิทัล เฟ้นหากลยุทธ์และแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่
อาทิ รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, Thomas Robinson (คุณโทมัส อาร์ โรบินสัน) President and Chief Executive Officer, AACSB, Hillol Bala (ฮิลลอล บาลา) PH.D. Associate Professor of Information Systems, and Co-Director of the IDE, Kelley School of Business, Indiana University, ศาสตราภิชาน ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.จีราวรรณ บุญเพิ่ม กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคุณชุติมา ศรีบำรุงศาสตร์ Country Head of Human Resources, Microsoft (Thailand) Limited
รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลในการประชุมว่า “สำหรับตัวเลขภาครวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ถือว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น เนื่องจากตัวเลขในเชิงมหภาคออกมาดีหมด เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเติบโตได้ดี ถ้าเทียบกับตัวเลขในภูมิภาค ซึ่งจริงๆ แล้วธุรกิจประเภทต่างๆ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเท่าๆ กัน แต่ว่าสภาวะการแข็งขันไม่เท่ากัน โดยธุรกิจที่มีการแข็งขันสูง อาทิ ธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ วิทยุและสิ่งพิมพ์ การแข่งขันดุเดือดมาก มีการคิดรูปแบบรายการ และคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้ชมและผู้ฟัง เพื่อแย่งชิงชิ้นเค้กจากเม็ดเงินโฆษณา แต่ถึงจะมีการแข่งขันดุเดือดมากเพียงใด ธุรกิจสื่อยังถือว่าเติบโตได้ดี โดยวัดจากปริมาณคนดูที่เพิ่มขึ้น และเม็ดเงินในการโฆษณาที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ ธุรกิจพลังงาน จะเห็นได้ว่าภาคพลังงานก็ยังมีการเติบโต การใช้ไฟฟ้า การใช้พลังงาน ถ้ามีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในธุรกิจพลังงานก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายต้นทุนการใช้พลังงานถูกลง ซึ่งรัฐบาลต้องลงทุนในเรื่องนี้เพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนในแต่ละครัวเรือนได้ใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น อาทิ โซลาร์รูฟท็อป อุปกรณ์เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่สะอาด 100% ไม่มีมลพิษ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม”
“สำหรับธุรกิจดิจิทัล เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อภาคเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลกมากๆ เพราะดิจิทัลเข้ามาทำลายกำแพงเก่าๆ ของการทำธุรกิจทำให้โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป ตัวอย่าง เช่น Alibaba (อาลิบาบา) บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีนที่มีอิทธิพลและโด่งดังมากๆ ซึ่ง “อาลิบาบา” มีรูปแบบ เหมือน Lazada ในเมืองไทยที่มีการค้าขายสินค้าทางออนไลน์ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน คือ สองบริษัทนี้ขาดทุนเหมือนกัน เมื่อขายขาดทุนแต่ถามว่าเขาได้อะไรคำตอบคือ เขาได้ข้อมูลส่วนตัวของคนที่ช้อปปิ้ง ไม่ว่าจะเป็นคนขายสินค้าหรือว่าคนซื้อสินค้าและนำมาต่อยอดธุรกิจในโมเดลใหม่ๆ ซึ่งถ้าตีความหมายความเป็น “ดิจิทัล” จริงๆ “ดิจิทัล” คือ เทคโนโลยีทางการเงินหรือเป็นธนาคาร แต่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าเขาเป็นธนาคาร เพราะเราจะยึดติดกับภาพเดิมๆ ว่า ธนาคารรุ่นเก่าต้องสร้างให้มันสวยๆ มีแบบฟอร์มการขอสินเชื่อ นั่นแหละคือสิ่งที่ธุรกิจดิจิทัลได้เข้ามาทำลายขอบเขตธุรกิจ”
“ในด้านของการเติบโต ธุรกิจดิจิทัลเติบโตตลอด เพราะช่วยทำให้ธุรกิจในแต่ละประเทศเปลี่ยนไป คือสมัยก่อนในแต่ละประเทศจะมีการแบ่งภาคกันอย่างชัดเจน ใครอยู่บริการ ใครอยู่ภาคผลิต แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการแบ่งแยกความชัดเจนระหว่างภาคผลิตและบริการ เพราะบริการต้องการสินค้า สินค้าต้องการบริการ แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า การให้บริการในปัจจุบันด้วยดิจิทัล เราสามารถให้ข้อมูลบริการได้หลายแบบ เป็นบริการทางเดียวเพื่อให้ข้อมูลหรือเป็นบริการเชิงโต้ตอบพวกนี้สามารถเพิ่มเข้าไปในตัวสินค้าได้ สมมติ เราไปซื้อยามา 1 อย่าง ถ้าเรามีตัวคิวอาร์โค้ทที่เราสามารถดาวน์โหลดดูว่ายาทานอย่างไร เพราะบางครั้งเภสัชก็ไม่แน่ใจหรือเราอาจจะลืมว่ายาแต่ละชนิดมีข้อควรระวังอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค แต่ถามว่าบริษัทยาต้องลงทุนอะไรและลงทุนมากหรือไม่ คำตอบ ต้นทุนแทบไม่มีและแถมการบริโภคยาก็ปลอดภัยมากขึ้น ดิจิทัลสามารถช่วยได้ แล้วก็สามารถเตือนวันหมดอายุยาได้ด้วย ฉะนั้นความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ยาก็มากขึ้น แล้วถามว่าดิจิทัลจะเป็นยังไงในอนาคต คำตอบคือจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีน้อยลงและจะสามารถช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตของมนุษย์ได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ กล่าวปิดท้าย