กว่า 3 ทศวรรษในเส้นทางของศิลปินแห่งชาติ อ.ปัญญา วิจินธนสาร” เกิดผลงานอันเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ในฐานะของศิลปินผู้สร้างสรรค์งานในรูปแบบจิตรกรรมไทยประเพณี จนมาถึงปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวันนี้ ด้วยการพลิกผันสู่ผลงานศิลปะร่วมสมัย ด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ในสังคม ภายใต้แนวคิด “Ready Myth” อวดโฉมให้ทุกคนได้ร่วมกันฉุกคิดแล้ววันนี้

ผลงานจากการก้าวข้ามรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานครั้งสำคัญของ อ.ปัญญา วิจินธนสาร จัดแสดงเป็นนิทรรศการ “PANYA : READY MYTH DEMONCRACY” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องค์มนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธานในวันเปิดงาน

อ.ปัญญา กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุ เริ่มมาตั้งแต่สมัยเรียน ปี 4 ที่ ม.ศิลปากร ซึ่งตอนนั้น ได้เลือกทำงานวิทยานิพนธ์ 2 แนวทาง คือ รูปแบบของศิลปะไทย และผลงานศิลปะจากวัสดุ ซึ่งในตอนนั้นได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ว่า ควรจะจับแนวทางศิลปะไทยเพราะจะไปได้ไกลกว่า จากนั้นจึงหยุดความที่คิดที่สร้างงานจากวัสดุไป มีเพียงบางครั้งที่นำวัสดุต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในงานจิตรกรรมไทย

“ผมถูกขนานนามอยู่เสมอว่าเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยแบบประเพณี ซึ่งจริงๆ แล้ว กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ผมก็พยายามพัฒนางานตัวเองอยู่เสมอ รวมทั้งการพัฒนาผลงานจากไทยประเพณี มาเป็นสมัยใหม่ ถือว่าการสร้างผลงานในครั้งนี้ เป็นอีกจุดที่ผมก้าวข้าม ซึ่งรูปแบบของไทยประเพณี อาจลดน้อยลง เหลือเพียงความคิดเชิงสัญลักษณ์ ส่วนการแสดงออกจะเป็นแบบร่วมสมัย เป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น”

 

การสร้างผลงานศิลปะชุด “PANYA : READY MYTH DEMONCRAZY” จึงถือเป็นประสบการณ์และจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ในการพลิกผันตัวเองจากงานจิตรกรรมรูปแบบประเพณีมาสู่งาน Inspiration ในลักษณะศิลปะการจัดวาง ด้วยการใช้วัสดุเป็นหลัก โดยได้ใช้เวลา 3-5 ปี ในการสะสมและศึกษาตัววัสดุ พร้อมการทำงานร่วมกับช่างผู้เชี่ยวชาญในการดัดแปลงและตกแต่งตัววัสดุ

“การทำงานศิลปะที่ใช้วัสดุ มันเป็นเรื่องที่ยาก ผมมีความคิดจะทำมานาน แต่ความพร้อมยังไม่มี เพราะเราต้องใช้เวลา ศึกษาเพื่อให้เข้าใจเรื่องวัสดุ ต้องใช้ทุนในการสะสมวัสดุ ต้องเข้ามาจัดการในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ถือเป็นประการณ์ใหม่ที่ได้เรียนรู้”

ผลงานศิลปะชุด “PANYA: READY MYTH DEMONCRAZY” มีเป้าหมายในการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างคุณค่า พร้อมสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการเมือง อาทิ “Bless My World” ซึ่งเป็นภาพพระเยซู หัวกลับบนตู้ยาจีนโบราณ

“ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าโลกเรานี้กำลังป่วย พระเยซูบนสวรรค์ยังเป็นห่วงต้องการลงมาช่วยโลก โดยผลงานด้านหน้านี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมคือ พระเยซูที่เราเห็นกันทั่วไปว่าท่านถูกตรึงไว้บนไม้กางเขน แต่ในภาพกับถูกตรึงโดยเครื่องบินในยุคใหม่ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณมาถึงปัจจุบัน จากรากเหง้าความเชื่อทางศาสนาและการเมือง ขณะที่อีกด้านหนึ่งของตู้จะมีภาพของ “บารัค โอบาม่าคู่กับกัดดาฟี่” และมีตัวอักษรเพื่อสื่อความหมาย ว่า “Bless My World” ที่เป็นชื่อของผลงานชิ้นนี้ด้วย เพื่อสื่อว่าแม้โลกจะมีความขัดแย้งมากเพียงใด ผมก็ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ขอโลกหายป่วย มีแต่ความสงบสุข”

ผลงาน “ยานแมงมุม หรือ “VW Spindler Cars” เป็นผลงานที่ อ.ปัญญา มีแนวความคิดอยากทำมานานแล้ว และได้ออกตามหาและเลือกเฟ้นวัสดุที่จะมาสร้างสรรค์ขึ้น จนไปพบกับฝากระโปรงเก่าของรถโฟล์คที่ตรงกับแนวคิดจึงได้ซื้อและนำประกอบเป็นตัวแมงมุมขึ้นมา

“ขาแมงมุมที่ยั้วเยี้ยนั้น ผมได้ใช้บังโคลนหลังของรถโฟล์คและบังโคลนหลังของรถมินิ ที่เป็นเหล็กที่ไม่เป็นสนิม (Stainless Steel) นำมาประกอบกับตัวแมงมุม เป็นแมงมุมจำนวนหนึ่งขึ้นมา แล้วจัดว่างเพื่อได้ชมและได้สื่อกับผู้ชมว่า “แมงมุม” เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงสภาพแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต “แมงมุม” จะกลายเป็นสัตว์ที่มีพิษภัยร้ายต่อมนุษย์มากขึ้น จะเป็นมหันตภัยยิ่งกว่าความขัดแย้งของมนุษย์กับมนุษย์เราเองเสียอีก”

ผลงาน “Season Change” หรือ “ผลัดฤดู” ได้วัสดุมาจากชิ้นส่วนของรถโฟล์คอยู่ในสภาพเก่าเป็นของเดิมนำมาประกอบกันเป็นรูปดอกบัวร่วง ทำให้นึกไปถึงหนังเรื่อง “ทรานฟอร์เมอร์” หุ่นยนต์แปลงร่างได้ โดยนำมาแปลงเป็นดอกบัวที่มีสนิมให้อารมณ์ที่แตกต่างไปอีกแบบ

ผลงานชิ้นนี้จะพูดถึงสิ่งแวดล้อมหรือฤดูกาลที่ต่อไปนี้จะไม่เป็นตามธรรมชาติ หรือไม่เป็นไปตามฤดูกาลที่เคยเป็นมาที่ฤดูร้อนแม้จะร้อน แต่ก็จะมีลมทะเลลมป่าพัดพาความเย็นมาจากทะเลและป่าเขาช่วยลดความร้อน ทำให้อากาศเย็นลง ฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นสบาย และฤดูฝนที่ฝนหรือพระพิรุณจะโปรยปรายลงมาทำให้พื้นดินชุ่มฉำ ท้องไร่ท้องนาทั่วแผ่นดินก็จะเขียวขจีตามมา แต่ฤดูกาลในอนาคตอาจจะไม่เป็นเช่นที่เป็นอยู่อีกแล้ว เพราะสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อฤดูกาล ฤดูกาลอาจเปลี่ยนไป ภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลวร้ายรุนแรงและมีแต่เลวลง ศิลปินจึงต้องเอากลีบดอกบัวที่ร่วงโรยดอกนี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคตที่จะรุนแรงขึ้น

“ผมได้เรียนรู้ถึงวัสดุที่ผูกพันในชีวิต และมองวัสดุว่ามีจิตวิญญาณ แม้ตอนแรกที่เห็นอาจจะผ่านสายตาไป แต่เมื่อวันหนึ่งเกิดคิดถึง ก็กลับไปเก็บมันมา ผมเริ่มเห็นชีวิตของวัสดุที่ถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยว เริ่มเห็นว่ามันสื่อความหมายได้ จึงเริ่มสะสมวัสดุไว้ก่อน เพราะงานในลักษณะนี้ หากคิดจะทำเลยคงทำไม่ได้ เมื่อสะสมได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็นำมาต่อยอดความคิด เพื่อให้วัสดุสื่อความหมายได้ เป็นวัสดุที่มีชีวิต มีจิตวิญญาณ วัสดุเคยถูกสร้างด้วยมนุษย์ เคยมีคุณค่า การสร้างรถยนต์ 1 คัน เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ เวลาดูรถยนต์ ผมไม่ได้ดูแค่ดีไซน์ แต่มองดูว่า ชิ้นส่วนต่างๆที่ถูกออกแบบมานั้น สามารถสร้างเป็นงานศิลปะได้ จึงเริ่มเกิดแนวคิดว่า จะสร้างสรรค์เป็นผลงานได้อย่างไร”

อ.ปัญญา ฝากไว้ในตอนท้ายว่า ศิลปินควรอาศัยการเรียนรู้ และเตรียมพร้อมเพื่อเปลี่ยนตัวเอง ให้สังคมได้เห็นว่าศิลปินที่มีศักยภาพ สามารถทำงานในลักษณะใดก็ได้ ซึ่งอัตลักษณ์ในความเป็นศิลปินอาจเปลี่ยนไป จากการเป็นผู้สร้างสรรค์งานเพียงผู้เดียว เป็นผู้คิดสร้างสรรค์ โดยมีผู้อื่นเข้ามาช่วยสร้างผลงานตามความคิดออกมาให้ได้ เช่นผลงานครั้งนี้ ซึ่งต้องใช้ช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ ช่างเหล็ก หรือช่างเทคนิคสีอะคริลิก มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลงานด้วย

ร่วมชมผลงานจากปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของศิลปินแห่งชาติ “อ.ปัญญา วิจินธนสาร” กับผลงานศิลปะชุด “PANYA: READY MYTH DEMONCRAZY” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เปิดเข้าชมตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มกราคม 2561