สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) ร่วมมือกับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เปิดนิทรรศการ “Internet Universality Beyond Words” นิทรรศการที่ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเสรี เปิดกว้าง เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ ผ่านการจัดแสดงผลงานในหลากหลายรูปแบบจากฝีมือ 11 ศิลปินและนักออกแบบชาวไทย อาทิ 1) สนามเด็กเล่นเสมือนจริง บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ 2) หนังสือภาษา+ไทย นำเสนอระดับมุมมองที่มีต่อประเทศไทยผ่านภาษาต่าง ๆ และ 3) Watch! ผลงานสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของพลเมืองไทยบนสื่ออินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม “อินเทอร์เน็ต” ยังคงมีความสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย จากการเป็นแหล่งความรู้และประสบการณ์ขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยและผู้ประกอบการเองควรตื่นตัวในการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ยกระดับธุรกิจ

นางสาว มิซาโกะ อิโตะ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและตัวแทนจากยูเนสโก สำนักงานส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) ร่วมมือกับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เปิดนิทรรศการ “อินเทอร์เน็ต ยูนิเวอร์แซลลิตี้ บียอนด์ เวิดส์” (Internet Universality Beyond Words) นิทรรศการที่ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเสรี เปิดกว้าง เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เนื่องในโอกาสวันที่ระลึกสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูลสำหรับทุกคน (International Day for Universal Access to Information) ที่ก่อตั้งโดยองค์การUNESCO ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี

สนามเด็กเล่นเสมือนจริง (My Virtual Playground)

หนังสือภาษา+ไทย

Watch!

นางสาว มิซาโกะ กล่าวต่อว่า ในปีนี้นิทรรศการ “Internet Universality Beyond Words” ได้จัดแสดงผลงาน จาก 11 ศิลปินและนักออกแบบชาวไทยที่สะท้อนถึงแนวคิด “อินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคน” อันตั้งอยู่บนพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน (Rights) ความเปิดกว้าง (Openness) ความสามารถในการเข้าถึงได้ (Accessibility) และ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Multi-stakeholder participation) หรือหลักการ ROAM ซึ่งแต่ละผลงานจะอยู่ในรูปแบบสื่อที่แตกต่างกันออกไป อาทิ วิดีโอ รูปภาพ หนังสือ ประติมากรรม ฯลฯ โดยมีตัวอย่างผลงาน 3 ชิ้น ดังนี้

  1. สนามเด็กเล่นเสมือนจริง (My Virtual Playground) ผลงานชุดหนังสือภาพประกอบ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่ออินเทอร์เน็ต และการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
  2. หนังสือภาษา+ไทย ผลงานนำเสนอระดับมุมมองที่มีต่อประเทศไทยผ่านภาษาต่าง ๆ ที่ใช้บนสื่ออินเทอร์เน็ต
  3. Watch! ผลงานประติมากรรม ที่สร้างจากภาพต่าง ๆ จากข่าวในประเทศไทย สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของพลเมืองไทยบนสื่ออินเทอร์เน็ต

ด้าน นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ คือปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ โดยอินเทอร์เน็ตถือเป็นแหล่งรวบรวมความรู้และประสบการณ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายหากเทียบกับช่องทางอื่น อินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนอาวุธสำคัญของการยกระดับธุรกิจในปัจจุบัน โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางการสื่อสารทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ จากตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยที่สูงถึง 82% ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite)

ดังนั้น อินเทอร์เน็ตจึงมิได้มีหน้าที่เป็นเพียงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมและสื่อเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของการสื่อสาร ความสัมพันธ์ แหล่งรวบรวมองค์ความรู้และเครื่องมือสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนและผู้ประกอบการ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ CEA ให้ความสำคัญ รวมทั้งผู้ประกอบการเองก็ควรมีความตื่นตัวในการหาแนวทางและวิธีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการยกระดับธุรกิจ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกแบบสิ่งแวดล้อมของอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะภาษาให้สอดคล้องกับผู้ใช้มากที่สุด เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อินเทอร์เน็ตแก่ประชาชนในทุกท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามความมั่งมั่นของนิทรรศการ “Internet Universality Beyond Words” ในครั้งนี้ นายกิตติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ พิธีเปิดนิทรรศการ “Internet Universality Beyond Words” จากความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สวนดาดฟ้า (Rooftop Garden) ชั้น 5 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจาก CEA ตัวแทนจาก UNESCO ศิลปินและนักออกแบบเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามนิทรรศการ “Internet Universality Beyond Words” จะจัดแสดง ณ ชั้น 5 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ตั้งแต่วันนี้ ถึง 14 ตุลาคม 2561 เวลา 10.30 – 21.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441 หรือเว็บไซต์ web.tcdc.or.th