(กรุงเทพมหานคร) : รพ.จุฬาลงกรณ์ ร่วมมือกับ กสิกรไทย และ เมืองไทยประกันชีวิต จัดแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ “โครงการ CHULA CARE” เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนงานบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและบริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชนทุกระดับ ทั้งการให้บริการผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และบุคลากรของโรงพยาบาล หวังสร้างคุณภาพการบริการให้อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค โดยภายในงาน ได้รับเกียรติจาก .นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และ นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวการจัดโครงการ และดารานักแสดง นำโดย นายนัฐฐพนธ์ ลียะวณิช (ต่าย), นางสาววริฏฐิสา ลิ้มธรรมมหิศร (ฐิสา), นายกิตตน์ก้อง ขำกฤษ (บูม), นายสพล อัศวมั่นคง (เกรท), นางสาวปาณิชดา เเสงสุวรรณ (เเจมมี่), นายจุติ จำเริญเกตุประทีป (เมฆ) และ นางสาวมุกดา นรินทร์รักษ์ เข้าร่วมงานและยินดี ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อไม่นานมานี้

.นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ระดับตติยภูมิที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน และรับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเน้นการให้บริการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพที่เป็นเลิศ มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และการพยาบาล เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence Center) สนับสนุนส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย จัดทำนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมด้วยบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากลอย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงบริการได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ความต้องการแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมไปถึงสถานพยาบาล ก็มีความต้องการมากขึ้น ทั้งจากผู้ใช้บริการภายในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแต่ละปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ในปี 2560 เป็นผู้ป่วยนอกจำนวนกว่า 1.6 ล้านราย หรือกว่า 5,000 รายต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการพัฒนากระบวนการให้บริการต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่ผู้ป่วยยังไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร จึงคิดว่าควรนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้มากขึ้น

ล่าสุด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และเมืองไทยประกันชีวิต ริเริ่มโครงการ CHULA CARE โดยนำเทคโนโลยีที่ทั้งสององค์กรมีความรู้และมีประสบการณ์เข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการระบบการบริหารจัดการผู้ป่วย พัฒนาแผนที่และการนำทาง ส่งเสริมข้อมูลด้านสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการรักษาทางไกล โดยการรักษาทางไกลนี้จะเริ่มให้บริการผู้ป่วยคลินิกระบบประสาท (Tele Neurology Clinic) ก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในระบบประสาท และไม่สะดวกเข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำผู้ป่วยเดินทางมาพบแพทย์ และลดระยะเวลาการรอคอยการพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้ ธนาคารฯ เข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาทั้งในส่วนของ Hardware และหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพัฒนาระบบเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ ได้แก่

การพัฒนาแอปพลิเคชัน CHULA CARE ที่จะช่วยให้โรงพยาบาลบริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ การแจ้งเตือนวันและคิวพบแพทย์ การแจ้งผลการตรวจสอบสิทธิ์ในการรักษา (เช่น ประกันสังคม, ประกันสุขภาพถ้วนหน้า) การแจ้งสถานะใบนำทาง การชำระเงินผ่าน K PLUS และ Mobile Banking ของทุกธนาคาร แผนที่และการนำทางแบบ Indoor Navigate นอกจากนี้ ยังสนับสนุนตู้ Self-service Kiosk เพื่อความสะดวกในการชำระเงินแก่ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนอีกด้วย

การสร้าง Data Hub พัฒนาระบบศูนย์รวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถให้โรงพยาบาลนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยธนาคารฯ จะจัดเตรียมระบบคลังข้อมูลพร้อมใช้ รวมทั้งเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล ให้กับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อนำไปวิเคราะห์ได้ตามความต้องการของโรงพยาบาล ทั้งนี้ ข้อมูลทุกอย่างยังเป็นสิทธิของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การพัฒนาระบบ Tele Medicine เป็นการใช้ความก้าวหน้าทางการสื่อสารโทรคมนาคมมาประยุกต์ใช้กับการบริการทางการแพทย์ โดยส่งสัญญาณข้อมูลภาพและเสียงผ่านสื่อ ควบคู่กับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ทันที ซึ่งประกอบด้วยการแบ่งปันความรู้ในการรักษาระหว่างแพทย์หรือการหารือเคส (Tele Conference) การรักษาทางไกล (Tele Clinic) และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Health Care)

การพัฒนาระบบงานด้านทรัพยากรบุคคล(HR)และ Staff Mobile Application เพื่อรองรับการดูแลบุคลากรของโรงพยาบาลให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี เชื่อมโยงการจ่ายค่าตอบแทน และการพัฒนาบุคลากร

นางสาวขัตติยากล่าวเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการให้บริการในธุรกิจการเงินซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการให้บริการที่ดีที่สุดแก่ประชาชนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ธนาคารกสิกรไทยจึงเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยและญาติทุกคนได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้น

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมืองไทยประกันชีวิต เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการให้บริการครั้งสำคัญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมถึงได้มีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมและสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในยุคที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยได้พัฒนาเทคโนโลยีและการบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการ 3 ด้าน ประกอบด้วย

พัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในผู้สูงอายุ (Health Promotion and Prevention Program) ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยการติดตาม (Monitor) ข้อมูลด้านสุขภาพทั้งจากโรงพยาบาลและที่บ้าน เพื่อให้ทีมแพทย์พยาบาลนำมาวิเคราะห์และจัดโปรแกรมการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยให้อย่างเหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน

พัฒนาช่องทางการเข้าถึงสื่อการสอนและการสอบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติ หรือที่ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) สามารถเข้าถึงสื่อการสอน และการสอบในหลักสูตรต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก และได้รับความรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะอยู่ในระบบ Digital Platform ทั้งหมด เพื่อให้ข้อมูลความรู้ถูกนำมาใช้ได้ง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด

การขยายความคุ้มครองสำหรับผู้ที่มีประกันสุขภาพ ประเภทผู้ป่วยนอก (OPD) กับบริษัทฯ ให้ครอบคลุมการรักษาผ่าน Tele Clinic และสามารถดำเนินการเคลมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน CHULA CARE ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากที่บ้านได้เลย

นอกจากนี้ ทางบมจ. เมืองไทยประกันชีวิต ยังให้การสนับสนุนประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ สำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกด้วย

ศ.นพ. สุทธิพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า จากความร่วมมือนี้ เชื่อมั่นว่าจะทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลต้นแบบเพื่อการรักษาผู้ป่วยให้ทั่วถึงและช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของคนไทยและของประเทศ