ผลการสำรวจของ Blackbox Research ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย แต่คนไทย 4 ใน 5 (82%) ยังเต็มใจที่จะสนับสนุนแบรนด์ที่ยั่งยืน ซึ่งนับเป็นจุดขายใหม่สำหรับผู้ประกอบการ และโอกาสทองสำหรับแบรนด์ไทยในการบุกเบิกธุรกิจที่ยั่งยืน และสร้างอนาคตที่สดใสให้กับประเทศไทย เพื่อเอาชนะใจและกำลังซื้อของผู้บริโภค
Blackbox Research และผู้ให้บริการด้านข้อมูล Dynata ได้ร่วมกันทำการศึกษาว่า คนไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างไร และความยั่งยืนส่งผลต่อการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับแบรนด์อย่างไร[1] ผลจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่คนในสังคมมีความตื่นตัวด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจมีการดำเนินการด้านความยั่งยืนที่เกินความคาดหมายของผู้บริโภค ในขณะที่การดำเนินงานของภาครัฐยังคงล่าช้า
คนไทยเกือบ 1 ใน 4 (24%) เห็นว่าภาคธุรกิจสามารถดำเนินการด้านความยั่งยืนได้ดีเกินความคาดหมาย (มีเพียง 15% เท่านั้นที่เชื่อว่าภาคเอกชนมีหน้าที่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน) โดยความเห็นของผู้เข้าร่วมการสำรวจต่อการดำเนินงานของภาครัฐกลับอยู่ในทิศทางที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทย (51%) เชื่อว่าการกำหนดประเด็นด้านความยั่งยืนให้เป็นวาระแห่งชาติเป็นหน้าที่ของรัฐบาล มีเพียง 30% เท่านั้นที่เชื่อว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามความรับผิดชอบอย่างเต็มที่แล้ว นั่นหมายความว่า คนไทยราว 1 ใน 5 (21%) คิดว่ารัฐบาลดำเนินงานด้านความยั่งยืนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
การศึกษายังชี้ให้เห็นว่าแบรนด์ต่างประเทศมีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่เหนือกว่าแบรนด์ในประเทศไทย โดยดัชนีความยั่งยืนของแบรนด์ 2 จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า Google (1.53) และ YouTube (1.33) เป็นผู้นำในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยมีเพียงธนาคารกรุงเทพและ LINE เป็นแบรนด์เอเชียที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยด้วยคะแนน 1.01 และ 1.06 ตามลำดับ
Saurabh Sardana ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) ของ Blackbox Research ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้ว่า แบรนด์ในภูมิภาคสามารถเพิ่มโอกาสในการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคหากมีการพัฒนาการด้านความยั่งยืน
“การวิจัยของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนไทยไม่ได้มองว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ ‘มีก็ดี’ แต่เป็นสิ่งที่ ‘ต้องมี’ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้บริโภคพร้อมจ่ายให้กับแบรนด์ที่ยั่งยืนเป็นลำดับ” Sardana กล่าว
ผลจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า คนไทยอยากให้ภาคธุรกิจมุ่งเน้นดำเนินการด้านความยั่งยืนใน 3 หัวข้อคือ การขจัดความยากจน (25%) การส่งเสริมระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันและมีความเท่าเทียม (22%) และการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างงานให้กับทุกภาคส่วน (21%) โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย
การศึกษาในครั้งนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้าง Insights ด้านความยั่งยืนของแบรนด์เพื่อเข้าถึงวิถีชีวิตของลูกค้าและทำให้ลูกค้านำไปต่อยอดและริเริ่มแนวทางด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับตนเอง Blackbox ใช้แพลตฟอร์มการวัดผล MCA® ในการศึกษาเพื่อประเมินการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และนำเสนอผลการวิจัยที่แบรนด์ชั้นนำสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยการใช้กลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมประชากร พื้นที่ ความชื่นชอบ และฐานะที่มีความหลากหลาย ผลการศึกษานี้อาจเป็นกุญแจสำคัญสำหรับภาคธุรกิจในการฟื้นตัวหลังโควิด-19 โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนเพื่อให้สามารถเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ได้ดียิ่งขึ้น
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นการตอกย้ำให้ภาคธุรกิจเห็นว่าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ของสหประชาชาติเป็นความสำคัญอย่างเร่งด่วน ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระดับที่ดี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกด้านการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล นอกจากนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติในโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้นำองค์กรธุรกิจนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ไปปฏิบัติใช้ในองค์กร โดยใช้งบประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท