“ย่านเจ้าสัวจีนถิ่นขุนนางไทย อดีตแหล่งการค้าใหญ่ที่ฝั่งธน ผู้คนไทย จีน แขก แปลกชาติฯ ศาสนสถานรังสรรค์ผสมผสาน” คือจารึกที่ปรากฏอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน บรรยายถึงความรุ่งเรืองของย่านคลองสานที่มีมาแต่อดีต เคียงข้างแม่น้ำเจ้าพระยา มีการผสมผสานของชาติพันธุ์ที่หลากหลายหลอมรวมอยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียว และเสน่ห์ของวัฒนธรรมที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ 100 ปีก่อน จนมาถึงปัจจุบันคลองสานยังคงเป็นประตูเชื่อมความเจริญระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี และล่าสุดคลองสานกำลังจะกลายเป็นที่ตั้งของไอคอนสยามที่จะเปิดปลายปีนี้ โครงการยักษ์ที่คาดว่าจะมาปลุกย่านการค้าเก่าแก่ดั้งเดิมให้กลับมาโดดเด่นรุ่งเรืองอีกครั้ง
นาวาโท ปริญญา รักวาทิน นายกสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า “ในมุมมองของคนภายนอก อาจจะมองว่าไอคอนสยามคือโครงการยักษ์ริมน้ำแค่นั้น แต่สำหรับสมาคมฯ เรามองว่า ไอคอนสยามคือโครงการที่แปลกใหม่ และยิ่งใหญ่ที่สุดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีองค์ประกอบหลากหลายที่จะดึงดูดผู้คนมากมายให้เดินทางมาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ช้อปปิ้ง พื้นที่ค้าขายสินค้าท้องถิ่นของไทยจากต้นตำรับตัวจริง ลานแสดงน้ำพุแสงสีเสียง Auditorium ขนาดใหญ่ รองรับการแสดงหรืองานประชุมสัมมนาระดับโลก ซึ่งเรามองว่าไอคอนสยามจะเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยง Old Town เข้ากับ New Town และเดินต่อไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน”
สมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือ เรือด่วน เรือลากจูง เรือท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งเมื่อรวมทุกแห่งพบว่าสมาชิกของสมาคมสามารถทำรายได้ให้ประเทศได้ถึงปีละ 3 แสนล้านบาท
“การมาของไอคอนสยามทำให้ผู้ประกอบการตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตื่นตัวกันอย่างมาก ซึ่งเราคาดว่าจะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย นอกเหนือจากคอนโดมิเนียมใหม่ๆ อาจจะมีโรงแรมใหม่ ร้านค้าใหม่ และธุรกิจบริการใหม่ๆ นอกจากนั้นเรื่องการท่องเที่ยวก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งแต่เดิมนักท่องเที่ยวมากรุงเทพฯ จะต้องไปเยี่ยมชม วัดอรุณ วัดโพธิ์ เกาะรัตนโกสินทร์ ปากคลองตลาด ถนนข้าวสาร ซึ่งเราจะเรียกว่า Old Town หลังจากนั้นจะไปช้อปปิ้งในเมือง เช่น ย่านสยาม แต่เมื่อไอคอนสยามเปิดให้บริการ ไอคอนสยามจะถูกบรรจุอยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะเดินทางไม่ไกลจากที่ท่องเที่ยว Old Town และไอคอนสยามก็มีครบทุกอย่างทั้งช้อปปิ้ง กิน ดื่ม แบบ New Town และกิจกรรมอีกมากมาย ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำกับบรรยายกาศริมน้ำได้ทั้งวัน เช่นเดียวกับธุรกิจ MICE ซึ่งที่ผ่านมาหากต้องการบรรยากาศริมน้ำ หอประชุมกองทัพเรือคือตัวเลือกหลัก แต่เมื่อมีไอคอนสยามก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือก และส่งเสริมศักยภาพของประเทศไทยในฐานะเมืองที่พร้อมสำหรับการจัดประชุมขนาดใหญ่ระดับโลก” น.ท.ปริญญา กล่าว
ในส่วนของการเดินทาง จะเห็นได้ว่าเมื่อโครงการรถไฟฟ้าที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จทั้งหมด จะมีสถานีที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามากมาย อาทิ สถานีตากสิน (สายสีเขียว สนามกีฬา-บางหว้า) สถานีสะพานพระนั่งเกล้า (สายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่) สถานีบางโพ (สายสีน้ำเงิน เตาปูน-ท่าพระ) สถานีสนามไชย (สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค) สถานีสะพานพระราม 6 (สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และ สถานีศิริราช (สายสีส้ม ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) ทั้งหมดนี้ จะเปิดโอกาสให้คนที่อาศัยอยู่ในโซนต่างๆ ทั้งสุขุมวิท พหลโยธิน แจ้งวัฒนะ หรือราชพฤกษ์ สามารถเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ง่ายขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้คนสนใจมาทำกิจกรรมริมน้ำมากขึ้นด้วย ซึ่ง น.ท.ปริญญา มองว่าการเดินทางทางน้ำจะทวีความสำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของระบบการขนส่งทางน้ำของประเทศไทย
“เรือโดยสารที่ปัจจุบันเป็นเรือไม้ จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นเรือที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรงขึ้น จะมีเรือใหม่ๆ เข้ามาแล่นให้บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า โรงแรม และไอคอนสยาม เราจะได้เห็นเรือคาตามารัน และเรือยอช์ท ให้บริการแถบสองฝั่งเจ้าพระยา เคียงคู่ไปกับเรือหางยาว และเรือท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม ซึ่งจะกลายเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ที่นักท่องเที่ยวต้องการมาชม เช่นเดียวกับท่าเรือและส่วนพักคอยของผู้โดยสารจะถูกปรับโฉมให้มีความทันสมัย และปลอดภัยยิ่งขึ้น” น.ท.ปริญญา กล่าว
จากตัวเลขผู้โดยสารเฉพาะท่าเรือสาทรแห่งเดียว ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวัน สมาคมฯ ประเมินว่าเมื่อไอคอนสยามเปิดดำเนินการ ท่าเรือสาทรจะมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น เป็นวันละประมาณ 100,000 คน ซึ่งนี่คือความท้าทายของกรมเจ้าท่า และรวมถึงไอคอนสยามในการบริหารจัดการการจราจรทางน้ำบริเวณหน้าโครงการ ที่จะต้องมีการวางระบบ ซักซ้อม พร้อมกับนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการกำหนดการเข้าเทียบท่า และการออกจากท่าของเรือประเภทต่างๆ และนี่จะเป็นต้นแบบของท่าเรือใหม่ที่ทันสมัยที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ด้านนายมนูญ พุฒทอง นายกสมาคมเรือไทย ที่มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา เรือท่องเที่ยว เรือข้ามฝาก และเรือภัตตาคาร ซึ่งปัจจุบันมีเรือโดยสารประจำทางแล่นให้บริการประมาณ 50 ลำ เรือนำเที่ยวขนาด 40 ที่นั่ง ราว 200 ลำ และเรือหางยาวอีก 200 ลำ กล่าวว่า “เราคิดว่าการเดินทางมาไอคอนสยามที่สะดวกที่สุดคือการเดินทาง ทางเรือ ซึ่งสมาชิกของสมาคมเรือไทยมีความพร้อมทั้งจำนวนเรือและบุคลากรที่จะรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น โดยสมาคมและไอคอนสยามได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในการจัดระเบียบการจราจรหน้าท่าอยู่แล้ว”
นอกจากนั้นกรมเจ้าท่ายังได้ร่วมมือกับบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา สมาคมเรือไทย จัดทำโครงการนำร่อง จัดระเบียบการโดยสารและป้องกันการบรรทุกเกิน เพื่อรองรับกับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ อีกหนึ่งความท้าทายของสมาคมเรือไทยและกรมเจ้าท่า คือเรือขนส่งสินค้าซึ่งใช้ความเร็วไม่ได้มาก ส่งผลต่อการจราจรทางน้ำในภาพรวมด้วย ซึ่งสมาคมเรือไทยได้มีการหารือกับผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้า เพื่อหาแนวทางการจัดการจราจรทางน้ำร่วมกัน เช่น อาจกำหนดว่าเรือ 1 ลำไม่ควรพ่วงเกิน 4 ตัวพ่วง และควรทิ้งช่วงให้ห่างกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เรืออื่นๆ สามารถวิ่งตัดผ่านแทรกเข้าไปได้ รวมถึงการกำหนดรอบให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป เพื่อทำให้การจราจรทางน้ำคล่องตัวขึ้น “โครงการนำร่องนี้เราเรียกว่า โครงการสุภาพบุรุษแม่น้ำเจ้าพระยา” นายมนูญกล่าว
มร. เดวิด โรบินสัน ผู้อำนวยการ บางกอก ริเวอร์ พาร์ทเนอร์ส (บีอาร์พี) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งการพักผ่อน ท่องเที่ยว และการเดินทางเพื่อธุรกิจที่สำคัญ โดยมีสมาชิกเป็นโรงแรม และธุรกิจร้านค้าริมเจ้าพระยา ให้ความเห็นว่า “นักท่องเที่ยวจากยุโรป และอเมริกา ที่มากรุงเทพฯ เพราะเขาชอบช้อปปิ้ง ชอบอาหารไทย ชอบวิถีชีวิตแบบไทยๆ และชอบสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะย่านเจริญกรุง คลองสาน ที่เขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนของไทยที่มีความหลากหลายแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ตั้งแต่ย่านไชน่าทาวน์ ตลาดน้อย กะดีจีน คลองสาน และเกาะรัตนโกสินทร์ เราจึงมองว่าเราควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อโปรโมทพื้นที่เหล่านี้ และในที่สุดก็เกิดเป็นไอเดียทำย่านสร้างสรรค์บางรัก คลองสานขึ้นมา เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อน เพราะพื้นที่ตรงนี้มีชุมชนเก่าแก่ทั้งชุมชนชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวจีน มีร้านอาหารเก่าแก่ มีสตรีทฟู้ดที่นักท่องเที่ยวชอบอยู่มากมาย”
การมาของไอคอนสยามได้ช่วยเติมเต็มความต้องการของนักท่องเที่ยว เพราะหลังจากการเที่ยวชมวัด วัง ตรอกซอกซอยต่างๆ แล้ว นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลานอกเหนือจากนั้นไปกับการช้อปปิ้ง พักผ่อนสบายๆ ริมน้ำ ชมความงามของอาคารเก่า วัด วังยามค่ำคืน และวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ กับสายน้ำ และด้วยความเป็นโครงการขนาดใหญ่ ไอคอนสยามยังมีสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมถึงมี Auditorium ที่สามารถรองรับการประชุมในระดับโลกได้ จึงทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจเดินทางมาท่องเที่ยวในย่านนี้มากขึ้นด้วย
“นักธุรกิจกลุ่มคนที่เดินทางมาประชุมหรือดูงานการจัดแสดงต่างๆ ที่ไอคอนสยาม นอกจากการช้อปปิ้งแล้ว เขาคงอยากไปพิพิธภัณฑ์ เที่ยวชมชุมชนรอบข้าง วิถีชีวิตไทย ดูย่านสร้างสรรค์ ซึ่งพวกเราได้รวมทุกความต้องการทั้งหมดไว้ในย่านนี้แล้ว และสามารถเข้าถึงได้ง่ายจากการโดยสารเรือซึ่งจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป และตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไปนักท่องเที่ยวที่มาย่านเจริญกรุง คลองสาน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปที่ไหนอีกแล้ว” มร. เดวิด กล่าว
มร. เดวิด ได้กล่าวถึงสิ่งที่นักท่องเที่ยวคาดหวังจากกรุงเทพฯ ว่า “กรุงเทพฯ มีของดีอยู่มากมายอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาเที่ยวในชุมชนต่างๆ มากขึ้น ก็คือชุมชนนั้นๆ ควรเพิ่มต้นไม้ให้มากขึ้น และลดการใช้พลาสติกให้น้อยลง ทั้งหลอดพลาสติก ถุงพลาสติก หรือขวดพลาสติก รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาดด้วย ตรงจุดนี้ต้องชื่นชมไอคอนสยาม เพราะมีความจริงจังกับกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งการสนับสนุนวิถีดั้งเดิมของชุมชน และการรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน คูคลองต่างๆ ให้สะอาด สวยงาม ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญมาก”
“ความร่วมมือกันอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรธุรกิจ ชุมชน และภาคประชาสังคม เท่านั้นที่จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของย่านเจริญกรุง คลองสานให้รุ่งเรืองอีกครั้ง ซึ่ง Collaboration is a key นี่คือคำตอบสุดท้ายของทุกเรื่อง” มร. เดวิด กล่าว