อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ของภาครัฐในการพัฒนาและสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกเครื่องมือแพทย์ไปยังภูมิภาคอาเซียนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวเติบโต 8.5 – 10% ต่อปี บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด จับมือพันธมิตรนำโดย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข จัดงาน Medical Devices ASEAN 2018 (MDA 2018) งานแสดงอุปกรณ์การแพทย์นานาชาติเเละการประชุมวิชาการทางการแพทย์ ครอบคลุมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ด้านศัลยกรรมทั่วไป ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู รังสีวินิจฉัย ห้องปฎิบัติการทางการเเพทย์ เทคโนโลยีและระบบไอที รวมไปถึงวัสดุสิ้นเปลือง กำหนดจัดในวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2561 ณ อาคาร 1-2 อิมแพ็ค ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม เมืองทองธานี

เภสัชกรหญิงกรภัทร ตรีสารศรี ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในฐานะที่เป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแลเครื่องมือแพทย์ มีพันธกิจในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ ทั้งผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ให้มีความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล และในงาน MDA 2018 อย. จะให้บริการข้อมูลรวมไปถึงให้คำปรึกษากับนักวิจัย นักประดิษฐ์ที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ และต้องการขึ้นทะเบียนกับ อย. ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในเรื่องการวินิจฉัยผลิตภัณฑ์ การจดทะเบียนสถานประกอบการ การขึ้นทะเบียนในระบบ e-submission การจัดเอกสารในรูปแบบ CSDT เพื่อขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ การโฆษณาเครื่องมือแพทย์ และการส่งออกเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันผู้ประกอบการให้มีความพร้อมสำหรับการผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และวงการแพทย์ของไทย เตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสำหรับการเป็น Medical Hub Asia ต่อไปในอนาคต”

คุณศิริ ศรีมโนรถ ผู้อำนวยการสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ภายในงาน MDA 2018 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมออกบูธให้ผู้ที่สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการบริการทดสอบเครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานสากล โดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ เช่น ISO/IEC 17025 หรือ ISO 15189 ในรายการทดสอบด้านกายภาพ เคมี จุลชีววิทยา และชีววิทยา (Biocompatibility) รวมถึงชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดต่อทางเลือด เช่น ชุดตรวจ HIV, Hepatitis B และ Hepatitis C เพื่อนำข้อมูลผลการทดสอบไปใช้ประกอบการขอการรับรองอนุญาตผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงมือศัลยกรรม ถุงบรรจุโลหิต ชุดให้สารละลายทางหลอดเลือด เป็นต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

คุณกรองกนก มานะกิจจงกล ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่องโยงการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทั้งทางด้านภาษีและมิใช่ภาษี ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆของบีโอไอ ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ของประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) โดยมีจุดแข็งที่ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความสามารถ สถานพยาบาลที่ทันสมัยได้มาตรฐานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นอีกหนึ่งภารกิจของบีโอไอ ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมออกงานแสดงนิทรรศการเครื่องมือแพทย์ (Exhibitors) จากต่างประเทศได้เห็นถึงศักยภาพของไทย ในการรองรับอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ บีโอไอจึงได้จัดกิจกรรม Medical Industry Networking ขึ้นภายในงาน MDA 2018 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการนี้ในประเทศ รวมถึงสร้างความร่วมมือในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ต่อไป”

เภสัชกรปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย กล่าวว่า “สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมบริษัทที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย สนองนโยบายภาครัฐที่ตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งใน S-Curve ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าทางการค้าด้วยด้วยการใช้เทคโนโลยี ตามนโยบาย Thailand 4.0 งาน MDA 2018 เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์จะได้พบกับผู้ใช้ ผู้ซื้อ ผู้ผลิต ผู้นําเข้า โดยตรง เป็นการเปิดตลาดหาพันธมิตร และหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ทั้งนี้ภายในงานทางสมาคมฯ ยังได้ร่วมจัดสัมมนาในหัวข้อ “ความท้าทายและโอกาสในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย” เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอีกด้วย”

มร. ลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเมนท์ จำกัด ผู้จัดงาน MDA 2018 กล่าวว่า “MDA 2018 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ได้ใช้พื้นที่ในการจัดแสดงเครื่องมือแพทย์ด้านศัลยกรรมทั่วไป ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู รังสีวินิจฉัย ห้องปฎิบัติการทางการเเพทย์ เทคโนโลยีและระบบไอที รวมไปถึงวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ จากกว่า 150 บริษัทและแบรนด์ จากทั่วโลก อาทิ เยอรมัน อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส มาเลเซีย จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง เป็นต้น นอกจากนี้เรายังมุ่งเน้นในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขของไทย โดยการจัดประชุมวิชาการ ภายใต้ชื่อ MDA Congress ร่วมกับ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย รังสีวิทยาสมาคม สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยฯ สมาคมเวชสารสนเทศไทย สมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทยเป็นต้น โดยในบางหัวข้อผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องในแต่ละสาชาวิชาชีพอีกด้วย

 

นอกจากนี้ภายในงานยังมีสัมมนาฟรีที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ “ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย” บรรยายโดยสถาบันพลาสติก “แพลทฟอร์มดิจิทัลทางกระดูกและข้อ” โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ “ทิศทางการเติบโตของธุรกิจเครื่องมือแพทย์” โดย Frost & Sullivan องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก “มาตรฐาน JCI ฉบับที่ 6” โดย The Joint Commission International ผู้ให้การรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลในระดับสากล “การเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding ของผู้ค้ากับภาครัฐ” โดย กรมบัญชีกลางเสวนาเรื่อง “บุกตลาดภาครัฐอุปกรณ์การแพทย์ไทยด้วยกลไกบัญชีนวัตกรรมไทย” โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น นอกจากนี้เรายังได้เรียนเชิญหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านสาธารณสุขจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน มาร่วมพูดคุยถึงความต้องการในการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดในต่างประเทศอีกด้วย” มร. ลอย จุน ฮาว กล่าวเสริม