หากจะกล่าวถึงระบบรางของไทยที่มีใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 ซึ่งได้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน จึงอาจมีผลต่อความปลอดภัย และความไม่สะดวกสบายในการเดินทางไปบ้าง แต่ต่อไปอีก 20 ปี เราจะได้เห็นรถไฟทางคู่ที่มีความทันสมัยซึ่งการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มที่จะช่วยปรับปรุงระบบโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เร่งรัดแผนการลงทุน โครงการรถไฟทางคู่ 14 เส้นทาง มูลค่าการลงทุนกว่า 3.9 แสนล้านบาท อาทิ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และเส้นทางจิระ-ขอนแก่น, เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ, เส้นทางนครปฐม-หัวหิน, เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น แต่จะดีแค่ไหน หากการปรับปรุงโครงสร้างรถไฟทางคู่ที่มาพร้อมกับความทันสมัย ความสะดวกสบาย จะมาควบคู่กับความปลอดภัย เพื่อสร้างมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงสถานีรถไฟ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเดินทางโดยรถไฟนั้นมีความปลอดภัยที่สุด เพราะเมื่อหากเทียบกับอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้วมีสูงถึง 8 หมื่นครั้งต่อปี มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 2 หมื่นคน แต่การเดินทางทางรางเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละไม่ถึง 100 ครั้ง ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหลายสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ในช่วงปี 2554-2556 มูลค่าของอุบัติเหตุเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 5.45 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุงการโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงระบบรางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตการเดินทางโดยรถไฟจะเป็นระบบการคมนาคมของชาติ อุบัติเหตุย่อมลดลงและจะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างมาก
ที่ผ่านมาการรถไฟฯ จัดกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการใช้ทางตัดเสมอระดับให้ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เคยลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชนใกล้เคียงแบบใกล้ชิด ปีนี้จึงเป็นโอกาสดีที่โครงการฯ ดังกล่าว จะเริ่มนำร่องลงพื้นที่ทางตัดสถานีรถไฟวัดงิ้วราย จังหวัดนครปฐม ในเขตภาคกลางและปริมณฑล และทางตัดสถานีรถไฟบ้านปิน จังหวัดแพร่ ในเขตภาคเหนือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงบริเวณทางตัด ทั้งโรงเรียน วัด และหมู่บ้านต่าง ๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎจราจรก่อนข้ามทางตัด รวมทั้งการให้ความสำคัญกับป้ายสัญลักษณ์เตือนต่าง ๆ อาทิ ป้ายทางข้ามทางรถไฟมีเครื่องกั้นทาง ป้ายทางข้ามทางรถไฟไม่มีเครื่องกั้นทาง ป้ายหยุด ป้ายกากบาท “ระวังรถไฟ” อันเป็นการลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินและเป็นการสร้างมวลชนสัมพันธ์อีกด้วย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเผยแพร่ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับจุดตัดทางรถไฟที่ถูกต้องและสร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้เส้นทางมีวินัยและตระหนักในการใช้เส้นทาง เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุให้เหลือเท่ากับศูนย์ในอนาคตอันใกล้ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในการยกระดับสู่รถไฟทางคู่ที่จะสมบูรณ์พร้อมให้บริการในอนาคต นางสิริมา กล่าว
นายเผอิญ ไทยสม ชาวบ้านชุมชนใกล้เคียงสถานีรถไฟอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในแต่ละปี มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณจุดตัดรถไฟที่สถานีนี้บ่อยครั้งมาก เฉลี่ยแล้วประมาณ เดือนละครั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วจุดตัดบริเวณนี้มีเครื่องกั้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์มีทั้งป้ายเตือนระวังรถไฟ ป้ายหยุด มีเครื่องกั้นทาง สัญญาณไฟกระพริบ เสียงสัญญาณเตือน และมีเจ้าหน้าที่ควบคุมตลอดเวลา เพราะเป็นเส้นทางรถไฟในเขตเมืองที่มีถนนสายหลักตัดผ่านไปสู่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดทั้งวัดพนัญเชิง และวัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งคิดว่าการรถไฟฯก็ได้พยายามป้องกันอุบัติเหตุอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นคนในพื้นที่โดยเฉพาะคนที่ขับรถมอเตอร์ไซต์ เนื่องจากขาดความระมัดระวัง ประมาทฝ่าฝืนเครื่องกั้น และที่สำคัญขาดจิตสำนึกในวินัยด้านจราจร บ่อยครั้งเมื่อรถไฟกำลังจะมาเจ้าหน้าที่เอาเครื่องกั้นทางลงคนเหล่านี้ก็ไม่อยากจะรอจึงฝ่าฝืนขับฝ่าเครื่องกั้น ซึ่งบางครั้งประมาทเกินไป ไม่ดูให้รอบคอบเสียก่อน ทำให้หลบรถไฟที่วิ่งมาตามรางไม่ทัน และก็เกิดอุบัติเหตุขึ้น จึงคิดว่าจิตสำนึกของประชาชนสำคัญมาก ควรจะมีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งควรมีการลงพื้นที่มาให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด น่าจะทำให้อุบัติเหตุลดลงได้บ้าง
นางสาวกัณฐิกา ไกยราช ผู้ใช้บริการรถไฟเป็นประจำ กล่าวว่า ตนได้ใช้บริการรถไฟทุกครั้งที่ต้องเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย ค่อนข้างตรงเวลา และสะดวกเพราะมีตู้นอนสามารถนอนพักระหว่างเดินทางได้ แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือใช้เวลาเดินทางค่อนข้างนาน และยิ่งหากวันนั้นเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนรถยนต์บริเวณจุดตัดอีก ก็ยิ่งทำให้เสียเวลามากขึ้นไปอีก ดังนั้นหากการรถไฟมีมาตรการที่จะช่วยให้อุบัติเหตุเหล่านั้นลดลงก็จะยิ่งทำให้การเดินทางโดยรถไฟสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และก็จะช่วยให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในการเดินทางโดยรถไฟมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
หากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานรถไฟที่อยู่ใกล้ หรือโทรสายด่วน 1690 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ปลอดภัย การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 02 621 8701 ต่อ 821 5240 -1 หรือ www.railway.co.th และอีเมล์ [email protected]