เป็นสัญญานที่ดีเมื่อภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ประสานพลังผุดย่านสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ชุมชน ดึงนักท่องเที่ยว จุดประกายการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน และสนับสนุนให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสตัดสินใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชน และมีส่วนร่วมกับการพัฒนาต่างๆ การดึงเศรษฐกิจต่างๆ เข้าสู่พื้นที่ เพื่อผลในเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำร่องด้วยการผลักดันพื้นที่เจริญกรุง-คลองสานให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะย่านนี้เป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวของเมืองและการเติบโตของความเจริญต่างๆ ชัดเจนมากในช่วงปีหลังๆ ทั้งการย้ายเข้ามาของ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และการเกิดโครงการไอคอนสยามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เน้นให้ความสำคัญกับการรักษาและเชิดชูอัตลักษณ์ชุมชนและนำเสนอสิ่งดีงามของความเป็นไทย นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่คลองสานและกะดีจีน โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพในการพัฒนาและผลักดันให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งในอนาคตจะโมเดลของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เจริญกรุง-คลองสานนี้จะถูกใช้เป็นต้นแบบของแผนพัฒนาที่ยั่งยืน ขยายไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC กล่าวว่า “หลังจากที่ TCDC ได้ย้ายเข้ามาในพื้นที่เจริญกรุงเมื่อ 2 ปีแล้ว เรามองเห็นศักยภาพของย่านเจริญกรุง-คลองสานว่าสามารถทำให้เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เพราะเป็นพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ มีระบบขนส่งสาธารณะที่พร้อม มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นย่านธุรกิจศิลปะ และการออกแบบที่มีชื่อเสียง สินทรัพย์ที่มากคุณค่าเหล่านี้สมควรที่จะได้รับการต่อยอด พร้อมกับเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นสามารถนำโมเดลกระบวนการออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม (Co-Create Model) ไปใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็สามารถนำไปใช้งานได้”
ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์และระบบนิเวศสร้างสรรค์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ ซึ่งการจะเป็นย่านสร้างสรรค์ได้จำเป็นต้องมีการสร้างฝันร่วมกันกับคนในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานรัฐ นักธุรกิจในชุมชน นักเรียน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และชาวชุมชนในย่านนี้ว่าเขามองอนาคตของชุมชนนี้เป็นอย่างไร โดยขอบเขตย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง-คลองสาน ครอบคลุมตั้งแต่วงเวียน 22 จบที่สะพานตากสิน ด้านบนไปถึงคลองสาน ด้านล่างเป็นย่านเจริญกรุง ผลักดันให้เป็นย่านเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต
หลายภาคส่วนได่เข้ามาช่วยกันพัฒนาเจริญกรุง-คลองสานให้เกิดเป็นย่านสร้างสรรค์ เช่นที่ทำอยู่คือการพัฒนาย่านตลาดน้อยเพื่อช่วยผู้ประกอบการในย่านนั้นให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยการสร้างพื้นที่ทำงานเพื่อให้กลุ่มคนรายได้ D E ได้มีโอกาสมาเช่าที่ทำงานในราคาที่ไม่แพง การปรับปรุงอาคารเก่าแก่ให้สวยงาม ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ย่านนั้นมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
“เราอยากที่จะผลักดันย่านสร้างสรรค์ให้เป็นเหมือน ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ โดยเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนด้านมาตราการทางภาษี หรือการสนับสนุนจาก BOI ให้กับผู้ที่สนใจลงทุน พร้อมการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งพื้นที่ ซึ่งเมื่อเรามีสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด ร่วมรื่น สวยงาม มีพื้นที่ทำงานที่ราคาถูก มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ก็จะช่วยดึงคนให้อยากจะเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ลดการกระจุกตัวของเมือง และช่วยทำให้เศรษฐกิจของชุมชุมดีขึ้นด้วย เพื่อการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ผศ. ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC ได้ให้ความเห็นถึงแนวทางความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วมว่า “กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น ส่งผลให้สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ซึ่งแม้ว่าการเติบโตของเมืองนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เป็นพลวัตที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกเมืองทั่วโลก แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่สอดคล้องกับสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม และเอื้อประโยชน์ให้กับคนในชุมชน ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญก็คือผู้คนในชุมชนนั้นๆ ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองด้วย โดยการนำของภาครัฐ ที่มีการวางแผนงานพฒมนาอย่างเป็นรูปธรรม มีการออกแบบกลไกต่างๆ ที่เชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยดูแลและพัฒนาเมืองให้มากขึ้นเป็นวิธีปฏิบัติที่ได้ผล เนื่องจากภาคเอกชนมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมมากกว่าในเรื่องของเงินทุน ทรัพยากรต่างๆ และบุคลากรเก่งๆ”
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design & Development Center หรือ UddC) ก่อตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นเวทีหรือแกนกลางในการเชื่อมต่อและบูรณาการความรู้แขนงต่างๆ ผ่านการมองแบบองค์รวม และประสานงานระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการฟื้นฟูเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยโครงการฟื้นฟูพัฒนาเมืองที่ UddC ได้ทำร่วมกับภาคีเครือข่ายไปแล้ว อาทิ “โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ที่มีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเดินในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมกรุงเทพให้เป็นเมืองเดินได้คือเมืองที่คนส่วนใหญ่ใช้การเดิน จักรยาน และระบบขนส่งมวลชนเป็นวิธีการหลักในการเดินทาง มีทางเดินเท้าที่มีคุณภาพและสะดวกต่อการเดินให้กับผู้คน
ผศ. ดร. นิรมล กล่าวว่า “ย่านคลองสาน และย่านกะดีจีน ถือเป็นย่านเก่าแก่และเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีการรวมตัวของผู้นำชุมชนทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะอยู่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ UddC ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนด้านวิชาการ นำเสนอ solution และสร้างกระบวนการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วม โดยมีภาคเอกชนอย่างสำนักงานทรัพย์สินฯ และไอคอนสยาม เข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งการสร้างศูนย์ข้อมูล การพัฒนาถนน ท่าเรือ ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อยกระดับการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะให้กับทุกคน ทั้งคนในชุมชนและคนนอกพื้นที่”
ไอคอนสยามได้เข้ามาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วมของย่านคลองสาน โดยไอคอนสยามไม่เป็นเพียงโครงการเมืองขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังร่วมสนับสนุนให้คนในชุมชนได้มีบทบาทในการกำหนดอนาคตของตนเอง ส่งเสริมให้เกิดความรัก ความหวงแหน และร่วมกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้สะอาดน่าอยู่เป็นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมภายในชุมชนอีกด้วย
พล.ร.อ. ประพฤติพร อักษรมัต กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พูดถึงความสำคัญของย่านคลองสานว่า “ที่นี่เป็นย่านประวัติศาสตร์ริมน้ำที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งปรากฏ การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่สืบเนื่องจากสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิม สถานที่ประสูติและที่ประทับของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ รวมถึงเป็นย่านที่พักอาศัยของขุนนางผู้ใหญ่ คหบดีมากมาย เป็นที่ตั้งของกรม กองต่างๆ ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำแถบนี้คึกคักด้วยเหล่าพ่อค้าจากนานาชาติ ความโดดเด่นของย่านคลองสานคือเรามีชุมชนเก่าแก่ มีวัด วัง ที่สวยงามและทรงคุณค่ามากมาย เช่นชุมชนบ้านช่างหล่อ ชุมชนบ้านข้าวเม่า พระราชวังเดิม วัดอรุณ วัดระฆัง และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ แหล่งรวมจิตใจของคนทั้งประเทศ ซึ่งมูลนิธิได้จัดงาน ‘รฦกธนบุรี 250+’ เพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีครบ 250 ปี และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าตากสิน”
พล.ร.อ. ประพฤติพร ได้ให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านย่านคลองสานสู่การเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต ว่า “การเข้ามาของรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรือแม้กระทั่งโครงการยักษ์อย่างไอคอนสยาม ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะคลองสานถูกทอดทิ้งมานาน ความเจริญควรจะต้องเดินหน้าต่อไป เพราะจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ แต่การรักษาอัตลักษณ์ เพื่อคงคุณค่าของชุมชนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษาไม่ให้หายไปไหน ซึ่งย่านกะดีจีนถือเป็นชุมชนตัวอย่างของความร่วมมือที่มีหลายหน่วยงาน คนในชุมชน และเอกชนมาช่วยกันพัฒนา และมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเองก็พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับไอคอนสยาม เพื่อช่วยกันรักษาและเชิดชู อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่สะท้อนภูมิปัญญาของคนฝั่งธนบุรี ให้ยังคงคุณค่า และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ทำให้สามารถเดินหน้าไปในอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า “คลองสานถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เป็นพื้นที่ที่เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นองความเจริญในอดีต และตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นแหล่งรวมทั้งประวัติศาสตร์ มีทั้งวัฒนธรรม ประเพณี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่สวยงามมากมาย นี่คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ไอคอนสยามมีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์ และเชิดชู ทำให้ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมและสิ่งดีงามต่างๆ ของพื้นที่ตรงนี้ยังคงอยู่ต่อไป ตลอดจนจุดประกายสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดความยาวมากกว่า 10 กิโลเมตรให้เจิดจรัสอีกครั้ง ด้วยการรวบรวมสิ่งที่ดีงามและเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของประเทศไทย สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย มานำเสนอในไอคอนสยาม เป็นเสมือนแพลตฟอร์มนำสิ่งดีงามของไทยแหล่านี้ให้ออกไปสู่สายตาชาวโลก โดยไอคอนสยามมีความเชื่อว่ากุญแจสำคัญที่สุดก็คือ การผนึกกำลังร่วมกับชุมชนซึ่งถือเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง มีความรักความผูกพันกับพื้นที่และรู้สักพื้นที่ดีที่สุด ประกอบกับการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะวิธีคิดของไอคอนสยามคือเราไม่ได้มองที่ตัวเราเองเพียงคนเดียว แต่เราคิดว่าความเจริญของเมืองจะยั่งยืนได้ ทุกคนจะต้องเติบโตรุ่งเรืองไปด้วยกัน”