องค์กรใหม่แห่งนี้มุ่งเน้นมาตรการในการปกป้องและเสริมสร้างชุมชน

ให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระยะยาวกับการท่องเที่ยวที่เคารพในคุณค่าทางวัฒนธรรม

สมาคมการท่องเที่ยวโลกเพื่อมรดกวัฒนธรรม World Tourism Association for Culture and Heritage (WTACH) เป็นสมาคมใหม่ถูกจัดตั้งและริเริ่มขึ้นเพื่อปกป้องมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายจากภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมืองหรือ overtourism อีกทั้งเพื่อส่งเสริมจริยธรรมด้านการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการที่ดีในแหล่งท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังตกต่ำ เนื่องจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่ไม่จำกัด และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาการท่องเที่ยว

WTACH เกิดจากความคิดของ คริส ฟลินน์ (Chris Flynn) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ อดีตผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก Pacific Asia Travel Association (PATA) ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นเวลาถึง 15 ปี ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ 15 คน ในภาคการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมเพื่อทำงานวางแผนร่วมกับแหล่งท่องเที่ยว ก่อนที่จะประสบปัญหาหรือกำลังประสบปัญหา overtourism อยู่และต้องการความช่วยเหลือ โดยเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ UNWTO รายงานถึงความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกสูงถึง 1.4 พันล้านคนในปี 2018 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2020 ถึงสองปี โดยเศรษฐกิจโลกเติบโต 3.7% ในปี 2018 ขับเคลื่อนให้จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโต 6% ในปีเดียวกัน

สถานที่ที่การท่องเที่ยวล่มสลายฟลินน์ให้เหตุผลว่า “ในขณะที่ปัญหา overtourism เกิดขึ้นและสร้างผลกระทบในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศพัฒนาแล้วที่แม้ว่าจะมีกฏเกณฑ์การควบคุมที่สูง ปัญหา overtourism ที่เกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวในเขตประเทศกำลังพัฒนาก่อให้เกิดผลกระทบมากกว่ามาก ทำให้แหล่งท่องเที่ยวในเขตประเทศกำลังพัฒนามีความต้องการความช่วยเหลือมากกว่า

ซึ่ง WTACH จะทำงานร่วมกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆเพื่อจัดทำกลยุทธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวและข้อเสนอแนะกรอบนโยบายเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการล่มสลายของการท่องเที่ยวที่เรากำลังเห็นที่นครวัด เกาะพีพี และภูเขาเอเวอร์เรส” โดยจุดยืนของ WTACH คือ การท่องเที่ยวต้องเคารพชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวและทรัพย์สินมรดกทางวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยว ยึดมั่นในกรอบที่มีชุมชนเป็นหัวใจ “ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะถอยก้าวกลับเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบระยะยาวของการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว”

สื่อสังคมและอุปกรณ์มือถือไม่ได้ช่วยอะไร แครอลีน ไชลส์ (Carolyn Childs) ซีอีโอ MyTravelResearch.com หนึ่งในสมาชิกของคณะที่ปรึกษาของ WTACH ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและแนวโน้มด้านการท่องเที่ยวกล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ WTACH เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่วัฒนธรรม ‘เซลฟี่’ และการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวผ่านอินสตาแกรม(Instagram ท่องเที่ยว) กำลังกวาดโลก ซึ่งภาพที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครสามารถสร้างให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวได้ในเวลาไม่นาน – ทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆไม่ได้เตรียมตัว กล่าวคือเป็นการก่อกระแสการท่องเที่ยวให้กับแหล่งท่องเที่ยวอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาพที่ถูกสร้างขึ้นสวนทางกับคุณค่าทางวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ก็เป็นการเสี่ยงที่การท่องเที่ยวจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว หรืออีกนัยหนึ่ง ‘แหล่งท่องเที่ยวที่เกิดจากการสร้างกระแสในสื่อสังคมออนไลน์’ (instadestinations) เสี่ยงที่จะทำลายสิ่งที่นักเดินทางกำลังมองหา” ไชลส์ กล่าวเตือน

นอกจากนี้ความปรารถนาที่จะได้ ‘ความจริงแท้ดั้งเดิม’ ในการเดินทางก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งเช่นกัน ไชลส์อ้างถึงผลการสำรวจของ AirBnB ที่พบว่ากว่า 80% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียล (และ 93% ของมิลเลเนี่ยลชาวจีน) แสวงหาประสบการณ์ที่ “ไม่เหมือนใคร” และต้องการ “ใช้ชีวิตเหมือนคนในท้องถิ่น” ในช่วงวันหยุดท่องเที่ยว

การสร้างรายได้ที่แท้จริง

“ความกดดันที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยวและบริษัทนำเที่ยวในการค้นหาและสร้างรายได้จากประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครและเป็นของแท้ดั้งเดิมจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลและกลุ่มที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว จะท่องเที่ยวไปในสถานที่และสิ่งที่พวกเขาเคยไปและทำมาแล้ว ซึ่งการมีกรอบแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมในแหล่งท่องเที่ยวจะช่วยให้ทั้งชุมชนแหล่งท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวสามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและคุ้มค่าได้มากขึ้น” ในด้านของอุปทานการท่องเที่ยว WTACH เชื่อว่าแหล่งท่องเที่ยวไม่ควรทำเพียงเพื่อให้ได้จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นเป้าหมายสำคัญแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งสมาคมใหม่แห่งนี้ยังมีความกังวลอย่างยิ่งที่ประเทศตุรกีได้ตัดสินใจเพิ่มเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวจาก 40 ล้านคนในปี 2018 เป็น 70 ล้านคนภายในปี 2023 – ซึ่งน้อยกว่าสี่ปี ฟลินน์ตั้งคำถามว่า “มีมารตการป้องกันผลกระทบอย่างไรบ้าง?” “มีการปรึกษากับชุมชนในพื้นที่หรือไม่? มีแผนงานอย่างจริงจังที่เป็นองค์รวมจากทั้งภาครัฐบาล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือไม่” ซึ่งที่ WTACH เรารู้ว่ามีวิธีที่ดีกว่าและเรากำลังมองหาองค์กรและบุคคลที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกัน ที่จะช่วยให้เราขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบในชุมชนแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีความอ่อนไหว

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://WTACH.org