การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเดินหน้าสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช และน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการที่จะเผยแพร่และต่อยอดโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 กับโครงการแหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว ใน 5 ภูมิภาค พร้อมเชิญคณะทูต ในแต่ละประเทศร่วมลงพื้นที่นำร่อง 5 เส้นทาง หนุนแนวคิด Local Experience เสริมรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมออนไลน์ โหวตเส้นทางที่ชื่นชอบลุ้นรางวัลท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า โครงการ แหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสืบสานพระราชปณิธาน ของพระองค์ท่านผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ภายใต้แนวคิด “Local Experience” หรือ “ประสบการณ์ท้องถิ่น” การเดินทางที่ผสานการเรียนรู้ ก่อให้เกิดความประทับใจ และทำให้เกิดการกระจายรายได้ นำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการแหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว เป็นการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ที่เชื่อมโยงจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เพื่อการจัดการกับปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องน้ำ ดิน ป่า รวมถึงการน้อมนำและเผยแพร่หลักการทรงงาน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน
ปัจจุบันโครงการในพระราชดำริที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย มากกว่า 4,700 โครงการ ได้กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ประชาชนชนไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการสร้างอาชีพให้ กับคนในชุมชน และหลายโครงการมีความสวยงาม ความน่าสนใจ แสดงถึงเสน่ห์แห่งวิถีไทย และมีศักยภาพ ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว สำหรับพื้นที่นำร่องใน 5 ภูมิภาค 5 เส้นทาง ของโครงการแหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว ได้มีการวางแผนและออกแบบเส้นทาง โดยมีการเชื่อมโยงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อยู่ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด เข้ากับสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในแอ่งท่องเที่ยว ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวมีหลายรูปแบบ เช่น หมู่บ้าน OTOP ศูนย์ศิลปาชีพ ย่านการค้า เป็นต้น และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ความน่าสนใจของโครงการในพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความงดงามและความมีวัฒนธรรมชองชุมชนในแอ่งท่องเที่ยวต่างๆ ททท. จึงได้เชิญคณะทูตจากหลายประเทศลงพื้นที่สัมผัส และเรียนรู้จากพื้นที่จริง ประกอบด้วย
• เส้นทาง “ตามรอยศาสตร์พระราชา ณ เชียงใหม่” โครงการเกษตรวิชญา-ชุมชนบ้านไร่กองขิง จังหวัดเชียงใหม่
• เส้นทาง “ตามรอยศาสตร์พระราชา ณ บุรีรัมย์” โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำต้นลำปะเทีย-ชุมชนบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
• เส้นทาง “ตามรอยศาสตร์พระราชา ณ ราชบุรี – นครปฐม” โครงการ 1 ไร่แก้จนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนทหารบก จังหวัดราชบุรี-ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม
• เส้นทาง “ตามรอยศาสตร์พระราชา ณ ระยอง” โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง ตามพระราชดำริ-ชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
• เส้นทาง “ตามรอยศาสตร์พระราชา ณ เมืองคอน” โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง–ชุมชน บ้านแหลมโฮมสเตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
นอกจากนั้น ททท. ยังมีการส่งเสริมการตลาด และการประชาสัมพันธ์โครงการแหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้กิจกรรม “ท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา” โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปร่วมโหวตวิดีโอเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชาที่ชื่นชอบจาก 5 เส้นทาง บนเว็บไซต์ www.tourismthailand.org/kingwisdom เพื่อลุ้นรับแพ็กเกจท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา ตั้งแต่วันที่ 6 – 31 สิงหาคม 2561 โดยจะประกาศรายชื่อผู้โชคดีในวันที่ 7 กันยายน 2561
“โครงการแหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว” จะเป็นหนึ่ง ในแนวทางส่งเสริมและพัฒนาด้านการตลาดที่ควบคู่ไปกับความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร การรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นการเพิ่มทางเลือกที่น่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยว โดยในอนาคต ททท. จะทำการส่งเสริมและขยายผลเส้นทางการท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชาสู่โครงการในชุมชนอื่นๆ ต่อไป” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นอกจากนั้น ททท. ยังหวังว่า โครงการแหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว และกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่ของแต่ละเส้นทาง โดยเฉพาะการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยประมาณการเติบโตของรายได้ในแต่ละพื้นที่อย่างน้อย 20%