กรณีที่มีข่าวดังครึกโครมเรื่องเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอจับรถซุปเปอร์คาร์เลี่ยงภาษีกว่าร้อยคันเกิดความเสียหายต่อรัฐนับพันล้าน พบมีรายชื่อเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ 108 คน เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 2 คนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของกรมศุลฯ แรกๆ ก็ดูขลังต่อมาก็อาจพลาดท่าตกม้าตายจากพระเอกกลับมาเป็นผู้ร้าย นอกจากไม่ได้เงินภาษีเข้ารัฐแล้วยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้เอกชน ย้อนกลับไปเรื่องกรณีรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันของ ขสมก. กรมศุลกากรจะมีหมัดเด็ดน็อคเอกชนสมราคาคุยได้หรือไม่ เพราะช่วงหลัง นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ออกมายอมรับว่า เอกสาร From D หรือ เอกสารรับรองถิ่นกำเนิด ของรัฐบาลมาเลเซียเป็นของจริง หากคดีนี้เดินไปจนสุดทางแล้ว หากกรมศุลกากรเป็นฝ่ายเพรี่ยงพร้ำต้องชดใช้ค่าเสียหาย 3,000 – 4,000 ล้านบาท
ก็คงไม่พ้นเงินภาษีจากหยาดเหงื่อประชาชนยังไม่พอ งานนี้ยังลากเอา ขสมก. เข้ามายืนอยู่บนความเสี่ยงด้วยเมื่อ นายชัยยุทธ รองอธิบดีกรมศุลฯ ออกหนังสือเลขที่ กค ๐๕๒๑/๖๘๕๓ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ถึงผู้อำนวยการ ขสมก. ยืนยันทั้งๆ ที่คดีความยังคาราคาซังว่ารถโดยสารเอ็นจีวี ประกอบจากจีนไม่ใช่มาเลเซีย ถ้าจะเอาออกจากอารักขาของกรมศุลฯ ต้องเสียภาษีในอัตรา 40 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งในวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ ขสมก.ตรวจรับรถยนต์โดยสารเอ็นจีวีจำนวน 390 คันที่วางประกันภาษีอัตราสูงสุด 40 เปอร์เซนต์ และให้ ขสมก.ปฏิบัติตามสัญญาไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ส่วนเรื่องถิ่นกำเนิดจะเป็นจีนหรือมาเลเซีย ถือว่าไม่ใช่สาระสำคัญเพราะมีการกำหนดขึ้นภายหลัง ไม่ได้กำหนดในทีโออาร์ แต่ปรากฏว่า นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.อ้างว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลครบถ้วนแล้วแต่ไม่สามารถรับได้เพราะเชื่อมั่นข้อมูลจากเอกสารที่กรมศุลกากรยืนยันว่า รถเอ็นจีวี.มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาทำตามคำสั่งศาลคือ ไม่สามารถรับรถได้ และนอกจากไม่รับรถแล้วยังประกาศยกเลิกสัญญาเอาดื้อๆ
นายสันติ ปิยะทัต ทนายความผู้รับมอบอำนาจ บริษัท เบสทริน กล่าวว่า มีข้อสังเกตอยู่หลายประเด็นคือ
1.สัญญาระหว่าง ขสมก.กับ บริษัท เบสทริน ขณะนี้ยังไม่ถือว่ายกเลิกหรืออาจยกเลิกโดยมิชอบเนื่องจาก ขสมก.ทำผิดขั้นตอนทางกฎหมายคือ ขสมก.ได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 เมษายน ว่าเบสทรินทำผิดสัญญาพร้อมประกาศออกสื่อมวลชนต่างๆ ว่าได้ขึ้นบัญชีให้เบสทรินเป็นผู้ทิ้งงานแล้วและมีหนังสือแจ้งไปที่ธนาคารที่ค้ำประกันเพื่อขอริบหลักประกัน 300 กว่าล้านบาท แต่ปรากฏว่า ขสมก.สับสนหรืออย่างไรไม่ทราบ วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขสมก.มีหนังสือมาถึง เบสทริน ให้ช่วยชี้แจงด้วยว่าเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ซึ่งเรากำลังทำหนังสือชี้แจงอยู่ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ นั่นย่อมแสดงว่า ขสมก.บอกเลิกสัญญาโดยผิดขั้นตอน เพราะถ้าหากเบสทรินชี้แจงได้ว่าเขาไม่ได้ทิ้งงานก็ย่อมไม่ได้ทำผิดสัญญา ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาไปก่อนหน้านี้ของ ขสมก.และการแจ้งให้เบสทรินเป็นผู้ทิ้งงานที่ประกาศไปแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเพราะเกิดผลกระทบต่อบริษัทฯ และหลายๆ ฝ่ายแล้ว
- คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ให้ ขสมก.ตรวจรับรถและปฏิบัติตามสัญญาต่อไปนั้นทุกวันนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่
- รักษาการ ขสมก.ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลทางเบสทรินก็ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไปทางรัฐบาลใช้อำนาจทางการปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามคำสั่งศาล เพื่อคงไว้ซึ่งความเคารพและความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจศาล ซึ่งเมื่อมีคำสั่งแล้วทุกคนต้องยอมรับ
- การแจ้งหนังสือริบหลักประกันผิดขั้นตอนเพราะยังรอผลการชี้แจงว่าทิ้งงานหรือไม่และผิดสัญญาหรือไม่ อย่างไร
- การประกาศขึ้นแบล็คลิสก็ผิดขั้นตอนไม่ชอบ
- การเดินหน้าร่างทีโออาร์.จัดให้มีการประกวดราคาอาจไม่ชอบธรรมเสี่ยงต่อหลักเกณฑ์ของ ปปช. ส่วนทีโออาร์ ขสมก. เปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะและวิจารณ์ของสาธารณะชนระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม ปรากฏว่ามีสาธารณะชนเสนอแนะและวิจารณ์จำนวน 4 ราย แต่ที่น่าสนใจคือข้อเสนอแนะของบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) เสนอให้ ขสมก.ใช้ราคาที่ตนเองเคยเป็นผู้ชนะการประมูลเมื่อปี 2558 คือราคา 1,784,850,000 บาทรวม 489คันหรือราคาคันละ 3,650,000 บาท ส่วน ขสมก.ได้ชี้แจงว่าราคากลาง ต้องยึดหลักเกณฑ์ของ ปปช.โดยจะต้องใช้ราคาที่เคยลงนามสัญญาจัดซื้อไว้กับ บริษัท เบสทริน เมื่อปี 2559 เป็นราคากลางคือ 1,735,550,000 บาท หรือราคาคันละ 3,549,182 บาท ซึ่งจะถูกว่าคันละ 100,818 บาท เมื่อรวมจำนวนรถ 489 คันราคาจะถูกกว่า 49,300,002 บาท
ซึ่ง ขสมก.เหมือนจะรักษากรอบกติกาของ ปปช.แต่ก็ต้องมาสะดุดตรงที่การกำหนดราคากลางค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา 10 ปี ซึ่งผู้ประมูลจะต้องเคาะราคารวมกันทั้งก้อน ไม่แยกค่ารถค่าซ่อมบำรุง เมื่อดูทีโออาร์ฉบับล่าสุดเลขที่ 09/2560 ที่เพิ่งออกมาสดๆ ร้อนและเปิดจำหน่ายซองไปแล้วนั้น ดูเผินๆ ก็ปกติดีแต่เมื่อพลิกไปถึงหน้า 42 ในตารางแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและราคากลาง (ราคาอ้างอิง) การจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ปรากฏว่าที่ข้อ 3.1 ราคากลางซื้อรถ 489 คัน 1,735,550,000 บาท ซึ่งแน่นอนเป็นราคาที่จัดซื้อจาก เบสทริน ครั้งหลังสุดตามระเบียบ ปปช.
แต่พอมาถึงข้อ 3.2 ราคากลางจ้างซ่อมบำรุงรถ 489 คันระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินประมาณ 2,286,160,819.50 บาท น่าสงสัยว่าเหตุใดค่าซ่อมบำรุงราคาจึงได้ห่างกับที่เคยทำสัญญาไว้กับ บริษัท เบสทริน เป็นจำนวนเงินถึง631,999,998.5 บาท แล้วก็เข้าใจเมื่อได้อ่าน 2 บรรทัดถัดมา ในทีโออาร์กำหนดให้ค่าซ่อมบำรุงปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 อัตราเฉลี่ยไม่เกิน 925.91 บาทต่อคันต่อวันเป็นเงิน 826,305,231.75 บาท ตรงกันกับราคาที่ บริษัท ช.ทวี และ บริษัท เบสทริน เคยประมูลไว้ตรงนี้ก็ยังถือว่าปกติดี แต่พอมาถึงค่าซ่อมบำรุงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 อัตราเฉลี่ยไม่เกิน 1,635.83 บาทต่อคันต่อวัน เป็นเงิน 1,459,855,587.75 บาท กลับไม่ตรงกับที่ บริษัท เบสทริน ทำสัญญาจัดซื้อกับ ขสมก.ครั้งหลังสุดที่ทำไว้ 927.65 บาทต่อคันต่อวัน เป็นเงิน 827,855,589.75 บาทเท่านั้น นั่นคือ เงินจำนวน631,999,998 บาท ที่หมกเม็ดซุกซ่อนหลบอยู่ในทีโออาร์ตรงค่าซ่อมบำรุงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 นี่เอง
หาก ปล่อยให้ ขสมก.ต้องซื้อรถแพงกว่าเดิม คำถามคือ ปปช. จะยอมให้เป็นเช่นนี้หรือหากตรวจสอบตามเอกสารอย่างตรงไปตรงมาก็จะทำให้ประเทศ ประหยัดงบประมาณไปได้มากถึงเกือบเจ็ดร้อยล้านบาทเลยทีเดียว
นายสันติ ปิยะทัต