นิติวิทยาศาสตร์ สร้างสุขให้ประชาชน ตรวจ DNA กว่า 8,900 ราย ได้สิทธิความเป็นคนไทยร้อยละ 80 – ใช้แอปพลิเคชั่น “อยู่ไหน” ตามหาคนหาย

ในวาระครบ 130 ปี กระทรวงยุติธรรม อยู่เคียงข้างประชาชนมาโดยตลอด ภายใต้นโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้แก่ประชาชน” โดย พันตำรวจเอกทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เปิดเผยถึงผลงานในการให้บริการแก่ประชาชนว่าสถาบันฯได้ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อำนวยความยุติธรรมและการทะเบียนราษฎร โดยได้ตรวจสารพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการอำนวยความสะดวกและบริการจากภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีกิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎร ไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร ได้รับงบประมาณในการตรวจสารพันธุกรรมบุคคล ประมาณ 1,600 ราย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2559-2563 มีการตรวจสารพันธุกรรมบุคคลรวม 8,936 ราย เป็นผู้ประสบปัญหา 5,201 ราย บุคคลอ้างอิงตามกฎหมาย 3,735 ราย โดยกว่าร้อยละ 80 ของผู้รับการตรวจสารพันธุกรรมได้รับสิทธิความเป็นคนไทยแล้ว

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล กระทรวงยุติธรรมโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงได้เตรียมการจัดตั้ง Biometric Hub For Justice เป็นศูนย์ประสานงาน บริหารข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซี่ง Biometric Hub For Justice จะบริหารฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลของผู้กระทำความผิด ในกระทรวงยุติธรรม นำมาใช้ตรวจสอบ สนับสนุนการจับกุมผู้กระทำความผิด การติดตามคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนาม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังได้พัฒนาระบบการบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E-Service) ผู้รับบริการสามารถส่งคำขอรับบริการ นัดหมายขอรับบริการและสามารถติดตามสถานะการดำเนินการต่างๆได้ รวมทั้งได้จัดทำแอปพลิเคชั่น “อยู่ไหน” (U-NAI) ให้ประชาชนแจ้งคนหาย ประกาศคนหายและแชร์ภาพหรือข้อมูลของคนหายลงบนสื่อออนไลน์ได้ โดยมีระบบแจ้งเตือนพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตร เพื่อติดตามคนหายได้อีกด้วย