กรุงเทพฯ 11 สิงหาคม 2560 – บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) แนะผู้เดินทางและนักท่องเที่ยว ใช้บริการ ตู้เอพีเอ็ม หรือเครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (Automated Postal Machine: APM) ส่งสิ่งของที่ไม่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบินไปยังปลายทางทั้งในและต่างประเทศ ด้วยอัตราราคาบริการอัตราเหมาจ่าย โดยนำร่องติดตั้ง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นแห่งแรก จำนวน 2 จุด ได้แก่ บริเวณหน้าพื้นที่ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ (ตม.) ฝั่งตะวันออก (Zone 2) และบริเวณท้าย Row D M T B ฝั่งทิศตะวันออก ชั้น 4 พร้อมให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวแล้วตั้งแต่วันนี้ตลอด 24 ชั่วโมง

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง และนักท่องเที่ยว ในกรณีที่มีสิ่งของที่ไม่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบิน อาทิ ของเหลวที่มีปริมาณมากกว่า 100 มิลลิลิตร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้พัฒนาบริการ ตู้เอพีเอ็ม หรือ เครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ(Automated Postal Machine: APM) เครื่องให้บริการรับฝากส่งสิ่งของทั้งในและต่างประเทศ ด้วยบริการ Post & Fly ที่ผู้ใช้บริการสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงชั่งน้ำหนักสิ่งของซึ่งต้องไม่เกิน 500 กรัม เลือกปลายทางที่จะฝากส่งและชำระเงิน เครื่องจะจำหน่ายซองกันกระแทกขนาด C4 ที่มีข้อความ “Post & Fly” กำกับอยู่ที่มุมซอง พร้อมสติ๊กเกอร์สำหรับประทับบนซองแทนตราประทับประจำวัน จากนั้นจึงฝากส่งโดยให้บรรจุสิ่งของในซองที่ได้จากเครื่องเท่านั้น ผนึกสติ๊กเกอร์รอยประทับไปรษณียากรให้เรียบร้อย และวางซองดังกล่าวลงในช่องรับฝาก

นางสมร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ใช้บริการสามารถฝากส่งสิ่งของผ่านเครื่องให้บริการดังกล่าวถึงปลายทางทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ทั่วโลก โดยการฝากส่งที่มีปลายทางในประเทศ ไปรษณีย์ไทย จะจัดส่งด้วยบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) มีอัตราค่าบริการแบบเหมาจ่ายในราคา 50 บาทต่อชิ้น สำหรับปลายทางต่างประเทศจะได้รับการจัดส่งด้วยบริการไปรษณีย์ลงทะเบียนระหว่างประเทศ อัตราค่าบริการจะจัดแบ่งตามโซนหรือทวีป ได้แก่ ทวีปเอเชีย ค่าบริการ 400 บาท ทวีปยุโรป แอฟริกา กลุ่มโอเชียเนีย และโซนอเมริกา ค่าบริการ 450บาท โดยปัจจุบันไปรษณีย์ไทยได้นำร่องติดตั้งเครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นแห่งแรก จำนวน 2 จุด ได้แก่ บริเวณหน้าพื้นที่ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ (ตม.) ฝั่งตะวันออก (Zone 2) และบริเวณท้าย Row D MTB ฝั่งทิศตะวันออก ชั้น 4 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้ง 2 ขั้นตอน ผู้ใช้บริการต้องกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขหนังสือเดินทางเพื่อยืนยันตัวตนผู้ฝากส่ง พร้อมยืนยันว่าสิ่งของที่ฝากส่งมิใช่สิ่งของต้องห้ามฝากส่งทางไปรษณีย์ อาทิ วัตถุมีคมที่มีหรือไม่มีเครื่องหุ้มห่อป้องกัน วัตถุระเบิด สิ่งมีชีวิต วัตถุอัดก๊าซและวัตถุไวไฟ ฯลฯ ทั้งนี้ หากตรวจพบสิ่งของต้องห้ามฝากส่งจะถูกปฏิเสธจากอากาศยานตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของไปรษณีย์ไทยและท่าอากาศยานฯ และหากตรวจสอบพบผู้กระทำผิดไปรษณีย์ไทยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมาย นางสมร กล่าวเสริม

เครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (APM) เป็นหนึ่งในการยกระดับระบบปฏิบัติการของไปรษณีย์ไทยสู่การเป็นไปรษณีย์ไทยยุคดิจิทัล ซึ่งมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมการปฏิบัติการและการบริการอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวทาง “5D & 2S” ได้แก่ Digital Product & Service พัฒนาสินค้าและบริการรองรับยุคดิจิทัล Digital Operation ยกระดับระบบปฏิบัติการสู่ระบบดิจิทัล Digital Infrastructure พัฒนาระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัล Digital Communication & Experience พัฒนาระบบการสื่อสารให้เข้ากับยุคดิจิทัล Digital People with Digital Mindset พัฒนาบุคลากรพร้อมรับมือยุคดิจิทัล Service Touch Point เน้นสร้างความประทับใจแก่ผู้ใช้บริการ และ Social Responsibility ต่อยอดด้านความรับผิดชอบต่อสังคม นางสมร กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545 หรือเว็บไซต์ www.thailandpost.co.th