กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ Local Alike (โลเคิล อไลค์) บริษัทที่ดำเนินกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) และเป็นนักพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนทั่วประเทศไทยมากว่า 10 ปี ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ 20 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยตลอดระยะเวลาโครงการได้มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนตามแนวคิด Hotown เพื่อยกระดับและฟื้นฟูศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวแบบองค์รวมให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
Hotown (โฮทาวน์) ที่เอาคำว่า Hotel กับ Town มารวมกัน เป็นแนวคิดที่ต้องการขับเคลื่อนชุมชนทั้งชุมชนให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ครบครันด้วยที่พัก อาหาร ผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก และสภาพแวดล้อมทางภูมิทัศน์ที่สวยงามโดยการเชื่อมโยงกลุ่มงานต่าง ๆ ของคนในชุมชนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการให้ทั้งชุมชนเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบองค์รวมเต็มรูปแบบ
โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการนำร่องพัฒนาศักยภาพของ 20 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้แก่
1. ชุมชนบ้านแม่แมะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
2. ชุมชนบ้านถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
3. ชุมชนบ้านปางห้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
4. ชุมชนบ้านหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
5. ชุมชนบ้านผาทั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
6. ชุมชนบ้านเซินเหนือ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
7. ชุมชนบ้านสุขสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
8. ชุมชนบ้านโคกเมือง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
9. ชุมชนบ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
10. ชุมชนบ้านพิพิธภัณฑ์ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
11. ชุมชนบ้านแก่งแคบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
12. ชุมชนบ้านล่าง อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
13. ชุมชนบ้านสลักคอก อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
14. ชุมชนบ้านตอนใน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
15. ชุมชนบ้านคลองตาจ่า อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
16. ชุมชนบ้านอ่าวกะพ้อ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
17. ชุมชนบ้านลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง
18. ชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
19. ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
20. ชุมชนบ้านปลายคลอง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยทั้ง 20 ชุมชนนี้ นับเป็นชุมชนท่องเที่ยวนำร่องที่ผ่านกระบวนการพัฒนาตามแนวคิด Hotown ที่ประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในชุมชนให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว การปรับปรุงภูมิทัศน์ การให้ความรู้ต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งประเภทอาหารและงานฝีมือที่มาจากภูมิปัญญาของชุมชน การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนให้สอดรับกับวิถีการท่องเที่ยวแบบปกติใหม่ (New normal) ปิดท้ายด้วยการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตและลองลิ้มรสอาหารประจำท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน และเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์
การพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวในครั้งนี้ได้สร้างการท่องเที่ยวมิติใหม่ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยว 20 ชุมชนในแบบที่แตกต่างไม่ว่าจะเป็น…
ความม่วนใจเบิกบานจากการมาเยือนภาคอีสาน ไปกับชุมชนที่โดดเด่นด้านวัฒนธรรม “ชุมชนบ้านตากลาง” จังหวัดสุรินทร์ ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นหมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีช้างมากกว่า 400 เชือก โดยชุมชนมีสายสัมพันธ์วิถีคนกับช้างที่ใช้ชีวิตเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว หากช้างล้ม(ตาย) ชาวบ้านก็จะทำพิธีบังสุกุล นิมนต์พระมาสวดทำพิธีและนำอัฐิไปบรรจุในสุสานช้าง และความน่าสนใจของชุมชนคือ วัฒนธรรมและวิถีความเป็นอยู่ที่มีอัตลักษณ์จากรากฐานของคนไทยชาติพันธุ์กวย หรือ กุย ผู้มีความชำนาญในการคล้องช้างป่าและสืบสานทักษะการเลี้ยงช้างมาจากบรรพชน ประเพณีวัฒนธรรมทรงคุณค่าและโดดเด่นของที่นี่
นอกจากนี้ยังมีชุมชนต้นแบบที่มีความโดดเด่นด้านอาหาร อย่าง บ้านสุขสมบูรณ์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ชุมชนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงเกษตรที่ต่อยอดมาจากวิถีชีวิตจริง อย่าง การปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ ด้วยวัตถุดิบที่สด สะอาด ผสมผสานกับรสมือแม่ครัวชุมชนที่ทำให้บ้านสุขสมบูรณ์รังสรรค์เมนูอาหารที่สุดแสนประทับใจฝากกลับไปให้ผู้มาเยี่ยมเยือนทุกคน และยังมีกิจกรรมให้ลงมือทำอีก เช่น ลงมือเก็บผักจากฟาร์มมาทำสลัดโรล ปั้นลูกกระสุนเมล็ดพันธุ์ไปยิงที่ผาเก็บตะวัน ดริปกาแฟ เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจทางชุมชนก็เชิญชวนให้แวะมาฟอกปอด กอดหมอก หยอกภูเขา กับเราชาววังน้ำเขียวที่โฮมสเตย์บ้านสุขสมบูรณ์ได้
เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเเบบล้านนาของภาคเหนือ ไปกับชนเผ่าพื้นเมือง “ชุมชนปางห้า” จังหวัดเชียงราย ชุมชนเก่าแก่กว่า 100 ปี ที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย ภายในชุมชนประกอบไปด้วยโฮมสเตย์เเละกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมายทั้ง การทำศิลปะบนแผ่นกระดาษสา และสปาใยไหมทองคำ พร้อมชิมอาหารมื้อพิเศษที่มาในรูปแบบขันโตกตามวัฒนธรรมล้านนา
หรือลองสัมผัสไปกับชุมชนที่โดดเด่นด้านผลิตภัณฑ์ของ “ชุมชนบ้านแม่แมะ” จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ยาวนานกว่า 200 ปี มีสภาพแวดล้อมของป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่ได้อพยพเข้ามาอาศัยเก็บใบเมี่ยง (ใบชา) และชาวบ้านที่นี่ยังประกอบอาชีพ ปลูกชา ปลูกกาแฟ เก็บสมุนไพร และของป่า ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจของที่นี่ไม่ว่าจะเป็น ชาอัสสัมชนิดชงดื่ม กาแฟดริป ชาดอกเมี่ยง สบู่ชาดอกเมี่ยง น้ำมันนวดจากธรรมชาติ และเทียนหอมจากยอดชาขาว เป็นต้น
ล่องใต้ไปชมน้ำทะเลสีฟ้าครามและธรรมชาติอันสวยงามของภาคใต้ ที่มีทั้งป่าเขาลำเนาไพร ทะเลหมอกสุดอลังการ ไปจนถึงลองลิ้มรสอาหารใต้รสเลิศต้นฉบับที่ “ชุมชนหาดส้มแป้น” จังหวัดระนอง ชุมชนที่มีสารพัดกิจกรรมซึ่งดึงเสน่ห์วิถีชีวิตของชาวบ้าน มาสร้างประสบการณ์ร่วมกับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการร่อนเเร่ การนั่งรถสองเเถวสุดคลาสสิคชมวิถีชีวิตของชุมชน ไปจนถึงหัดทำเซรามิก จากแหล่งแร่ดินขาวที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย เพื่อนำกลับไปเป็นของฝากชิ้นเดียวในโลก หรือเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยว “ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9” จังหวัดยะลา ที่เป็นเหมือนหมู่บ้านจีนเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวท่ามกลางหุบเขา ที่สามารถแวะพูดคุยกับผู้อพยพที่เป็นผู้สูงอายุมากด้วยเรื่องราว และเข้าพักเกสต์เฮ้าส์ชุมชนที่อยู่ติดกับผืนป่าฮาลาบาลา เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตที่สงบ ซึ่งสามารถเดินชมน้ำตกที่สวยสะดุดตาที่มีชื่อว่าน้ำตกฮาลาซะห์พร้อมได้เรียนรู้เเง่มุมอดีตผ่านพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ไปในเวลาเดียวกัน
ลองมาท่องเที่ยวในรูปแบบที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่ภาคกลาง “ชุมชนสลักคอก จังหวัดตราด” ชุมชนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะช้าง จังหวัดตราด แต่ถูกเรียกว่าเกาะช้างใต้ เพราะเกาะช้างถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งเหนือกับฝั่งใต้ ฝั่งเหนือจะคับคั่งไปด้วยผู้คน และการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ฝั่งใต้กลับกลายเป็นฝั่งที่คับคั่งไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่รอให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัส ถ้ายังไม่จุใจลองมาเยือน “ชุมชนบ้านล่าง” จังหวัดจันทบุรี หมู่บ้านเล็ก ๆ เก่าแก่ อายุประมาณ 200 ปี ที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง ที่ยังมีร่องรอยเส้นทางหากินและพักแรมของโขลงช้างป่า จากสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของโขลงช้างจนเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ชมกิจกรรมหลักของชุมชน คือการทอเสื่อ มีทั้งเสื่อปอ และเสื่อกก ที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฝีมือสุดประณีต
กรมการพัฒนาชุมชนคาดว่า ผลลัพธ์จากการพัฒนาศักยภาพ 20 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีในโครงการฯนี้จะเป็นแม่แบบของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวอื่น ๆ ในประเทศไทยให้สามารถกระจายการท่องเที่ยวทั้งในมิติของพื้นที่และรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งนี่ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาชุมชนสู่การท่องเที่ยวที่สร้างความแตกต่างด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ครบวงจรทั้งทางด้านสินค้า บริการ และท่องเที่ยวภูมิทัศน์ พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยมุ่งสู่ระดับสากลต่อไป
สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลสินค้าและบริการของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีทั้ง 20 ชุมชนได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ OTOP นวัตวิถี และ Local Alike