บรรยากาศแห่งความสนุกเร้าใจเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่คณะกลองยาวของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 เริ่มบรรเลง ด้วยท่วงท่าและลีลาที่ดูเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกันกับเครื่องดนตรี ขณะที่กลุ่มเด็กสาวก็ออกท่าทางรำฟ้อนได้อย่างชดช้อยพองาม นี่คือหนึ่งในคณะกลองยาวระดับเยาวชน ที่มีชื่อเสียง และเป็นหนึ่งในตัวเก็งของการแข่งขันกลองยาวในงาน “ออนซอนกลองยาวชาววาปี ของดีพื้นบ้าน สืบสานตำนานเมืองวาปีปทุม” ที่จัดขึ้นทุกปี
เราได้พบกับน้องๆ คณะกลองยาวในกิจกรรม “ถนนสายวัฒนธรรมบ้านกอก” อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ดินแดนที่มีความสนุกคึกคักของกลองยาว มีหมู่บ้านทำกลองยาวที่รวบรวมช่างฝีมือทำกลองยาวขั้นเทพ เพราะการทำกลองยาวถือเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่ง ที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์ ศิลป์ และประสบการณ์ ดังนั้นการจะทำให้กลองยาวมีเสียงดังกึกก้อง ก็ต้องใช้ฝีมือกันมากหน่อย และสิ่งเหล่านี้ก็คือของดีของชาววาปีปทุม ที่ชักชวนนักท่องเที่ยวให้เข้าไปค้นหา
จากความสนุกสนานจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ เชื่อมโยงกลับไปที่คนรุ่นเก่า ซึ่งนั่งรอแขกผู้มาเยือนพร้อมรอยยิ้ม คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา คุณยาย แต่ละท่าน ต่างเพาะบ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมายาวนาน หากจะถามว่านานแค่ไหน ก็นานพอๆ กับช่วงชีวิตของพวกเขา เพราะศิลปะหัตถกรรมอย่างการทอผ้าหรือการจักสาน เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา เสร็จจากไร่นา ผู้หญิงก็ทอผ้า ผู้ชายก็จักสาน ชินจนถึงขั้นชำนาญ จนเป็นที่มาของคำว่า “ภูมิปัญญา” ที่สืบทอดกันมา
“ถนนสายวัฒนธรรมบ้านกอก” เป็นกิจกรรมในโครงการ “รักษ์บ้านนอก” สนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ คนรุ่นเก่ากับเยาวชนรุ่นใหม่ พร้อมถ่ายทอดออกมาในรูปแบบสื่อสมัยใหม่ ที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย เป็นการทำงานที่มุ่งสอดแทรกความคิดและจินตนาการอันสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของโลกออนไลน์ที่ต้องใช้สติอย่างสูง ทั้งฝั่งของผู้ส่งสารและผู้เสพสื่อ
ความเพลิดเพลินในการเดินชมถนนสายวัฒนธรรมบ้านกอก เริ่มต้นจากการเรียนรู้ถึงวิธีการและที่มาก่อนจะเป็นของใช้แต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอ หรือการจักสาน ที่มีกระบวนการซับซ้อน ต้องอาศัยความอดทนและมานะอย่างมาก กว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างแต่ละชิ้น แสดงให้เห็นถึงผลของความเพียร และเสน่ห์ของความละเมียดละไมจากสองมือของผู้รังสรรค์ และนั่นอาจจะเรียกได้ว่า เป็นผลงานแบบลิมิเต็ด เพราะเชื่อว่า งานทำมือทุกชิ้น แม้จะใช้วัตถุดิบเดียวกัน วิธีการเดียวกัน และ ลวดลายเดียวกัน มันก็จะไม่มีทางเหมือนกัน
เรื่องราวเหล่านี้คือสิ่งที่ใช้เป็นเนื้อหาในการผลิตสื่อในโครงการ “รักษ์บ้านนอก” โดยการแนะแนวทางให้น้องๆ เยาวชนได้ใช้เวลาในการค้นหาเสน่ห์ในบ้านของตัวเอง เพื่อดึงขึ้นมาประกาศให้คนภายนอกได้รับรู้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทามาเยี่ยมชม “ถนนสายวัฒนธรรมบ้านกอก” นอกจากของฝากจากการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านแล้ว ยังเต็มไปด้วยหัวใจเปี่ยมพลัง เพราะได้รับฟังจากปากของคนที่เรียกตัวเองว่า “บ้านนอก” หรือ “บ้านๆ” ว่า พวกเขามีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของตัวเองมากแค่ไหน
นี่อาจจะเป็นถนนสายวัฒนธรรมสายเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความอลังการใด แต่นี่ก็คือถนนที่หัวใจดวงเล็กๆ ที่กำลังรวบรวมพลังที่ยิ่งใหญ่ จากคนรุ่นเก่า สู่คนรุ่นใหม่ โดยกลุ่มคนมีใจในการสร้างสรรค์ เพื่อให้ความบ้านๆ ของ “บ้านกอก” เป็น “บ้านนอก” ที่ควร “รักษ์”