รายงานชิ้นล่าสุดของมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้งระบุว่า ในปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) ร้อยละ 28 ของการเดินทางของผู้หญิงชาวมุสลิมเป็นการเดินทางคนเดียว (Solo Travels) แสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ซึ่งยังมีอายุน้อยต้องการแสวงหาประสบการณ์ท่องโลกมากขึ้น
เมื่อปีที่แล้วนักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิมจำนวนประมาณ 63 ล้านคนใช้จ่ายมากกว่า 2.4 ล้านล้านบาทในการเดินทางท่องโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นจากการที่ประชากรกลุ่มนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลก
จากการที่สองในสามของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือผู้หญิงชาวมุสลิมอายุ 40 ปีหรือน้อยกว่านั้น ชี้ให้เห็นว่าประชากรกลุ่มนี้ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมาก มากกว่าครึ่งของนักเดินทางกลุ่มนี้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาข้อมูลเรื่องที่พัก การเดินทาง และร้านอาหาร
“ถึงแม้การเดินทางของผู้หญิงชาวมุสลิมจะเพิ่มมากขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่การศึกษาวิจัยทางการตลาดเพื่อความเข้าใจในความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังมีไม่มากนัก รายงานฉบับนี้ทำให้เราเข้าใจถึงแรงจูงใจในทุกๆ ด้านของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งในตัวของพวกเขาเต็มไปด้วยพลังแห่งการสำรวจ ความตื่นตัว และความเอาใจใส่ในรายละเอียด โดยเราได้ทำการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิมหลายคนที่มีพื้นฐานและเรื่องราวที่ต่างกัน ซึ่งเราเชื่อว่ารายงานฉบับนี้จะมีประโยชน์แก่หลายๆ ฝ่ายเพื่อการเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น” รูห์ดาห์ ซาอินี หัวหน้าฝ่ายการตลาดของเครสเซนต์เรตติ้งและฮาลาลทริปกล่าว
ไลฟ์สไตล์และคุณค่าของชุมชนคือหัวใจหลักในการเดินทางของผู้หญิงชาวมุสลิม พลังในการใช้จ่ายของผู้หญิงกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น โดยเกือบทั้งหมดมีการวางแผนการเดินทางสองถึงสามครั้งต่อปี การเดินทางเพื่อพักผ่อนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง (90 เปอร์เซนต์) ตามมาด้วยการเดินทางเพื่อศาสนา (21 เปอร์เซ็นต์) และเพื่อธุรกิจ (11 เปอร์เซ็นต์) รายงานนี้ยังพบอีกว่าผู้หญิงกลุ่มนี้มีอิทธิพลในการวางแผนการเดินทางถึงแม้จะเดินทางร่วมกับผู้อื่นด้วย โดยส่วนมาก 71 เปอร์เซ็นต์เดินทางกับครอบครัว ดังนั้นจึงพบว่าพวกเขาจะเลือกจุดหมายปลายทางที่เหมาะกับครอบครัว
ความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด กลุ่มนักเดินทางผู้หญิงเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดการท่องเทียว และความต้องการหลักคือ ความปลอดภัย ซึ่งผู้หญิงมุสลิมก็ต้องการสิ่งเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้หญิงชาวมุสลิมจะคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับศาสนาในการเดินทางด้วย โดย 94 เปอร์เซนต์ของผู้หญิงชาวมุสลิมที่ถูกสัมภาษณ์จะคำนึงถึงร้านอาหารฮาลาลเป็นสำคัญ ขณะที่ 86 เปอร์เซ็นต์จะคำนึงถึงห้องละหมาดที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น 79 เปอร์เซนต์จะเลือกสถานเสริมความงามและสปาสำหรับผู้หญิงเท่านั้น
ความยุติธรรมของสังคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญตามความเชื่อในศาสนาอิสลามก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่พวกเขาคำนึงถึง โดย 73 เปอร์เซนต์เลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ
จากผลสำรวจดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลกประจำปี 2562 โดยมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้ง (The Mastercard-CrescentRating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2019) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 2 ในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยมในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) และอันดับ 18 ของทั่วโลกทั้งกลุ่มประเทศมุสลิมและประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (OIC และ Non-OIC) ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 5 จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมที่มีทั้งความปลอดภัยและมีอิสระทางความเชื่อสูงสุดสำหรับนักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิม
“นักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิมพร้อมที่จะเดินทางท่องโลกเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงกลุ่มนี้พร้อมที่จะออกเดินทางและใช้บริการกับผู้ให้บริการที่เล็งเห็นความสำคัญของพวกเขาและช่วยให้พวกเขายังคงรักษาคุณค่าทางชุมชนและวิถีชีวิตในแบบของตนไว้ได้ เรามุ่งหวังว่ารายงานฉบับล่าสุดของมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้งนี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถปรับสินค้าและการบริการเพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ตรงจุด” ไอชา อิสลาม รองประธานบริหารผลิตภัณฑ์การตลาด มาสเตอร์การ์ดกล่าว
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.crescentrating.com/halal-muslim-travel-market-reports.html