คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน รวมพลัง จัดงานวิ่งเชิงสัญลักษณ์ และงานแถลงข่าวครั้งที่ 2 พร้อมเปิดยุทธการต้านมะเร็ง ในงานประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จ พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี วันที่ 8-9 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ด้วย คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมพลังจะจัดงาน “วิ่งเชิงสัญลักษณ์” และการแถลงข่าว พร้อมเปิดยุทธการต้านมะเร็ง เพื่อเตรียมจัดงาน “การประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” ในระหว่างวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์” โดยการจัดงานประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเผยแพร่พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และการแพทย์โดยเฉพาะด้านมะเร็งวิทยาของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดี คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ด้วยองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระดำริที่จะสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้ทางด้านโรคมะเร็งของประเทศ จึงทรงเห็นชอบให้จัดการประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (Princess Chulabhorn International Oncology Conference 2019) ด้วยความร่วมมือจาก 4 สถาบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเผยแพร่ พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์โดยเฉพาะด้านมะเร็งวิทยาของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

อีกทั้งเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการวิชาการในสาขาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา ระหว่างสถาบันทั้งภายในและภายนอกประเทศ และเพื่อให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ นิสิตนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เสนอผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ ตลอดจนแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง รวมทั้งมีการรวบรวมประด็นเพื่อเสนอแนวทางเชิงนโยบายและการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ภายใต้ประเด็นแนวคิดหลักของการประชุม คือ “New Frontiers in Cancer Combat” ให้แก่แพทย์ บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สำหรับรูปแบบการจัดประชุมในครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ การประชุมวิชาการนานาชาติ (Main Congress) ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ การบรรยายทางวิชาการ สำหรับหัวข้อการประชุมทางวิชาการ จะเน้นเรื่องการต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทยแบบองค์รวมและในทุกๆ มิติ ตั้งแต่การป้องกันมะเร็ง, การคัดกรองมะเร็ง การรักษาที่ทันสมัยที่มีการยอมรับทางด้านวิชาการว่าได้ประโยชน์ อาทิเช่น ยาต้านมะเร็งกลุ่มใหม่ๆ การรักษาด้วยการผ่าตัดที่ทันสมัยโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด รังสีรักษาที่ส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด โดยวิทยากรของการประชุมครั้งนี้ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิเช่น ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ แพทย์ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล วิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และระดับประเทศมาร่วมบรรยายและเสวนา มีการจัดแบ่งหัวข้อมะเร็งที่พบบ่อยในทุกๆ อวัยวะ ให้มีการอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญ ในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ

ส่วนที่ 2 จะเป็นการนำเสนอผลงานวิจัย จะมีการคัดเลือกงานวิจัยดีเยี่ยมหรือมีคุณค่า เพื่อให้มีการนำเสนองานวิจัยที่มีคุณค่าที่จะช่วยให้ผู้ป่วยปลอดจากมะเร็งมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งสูงขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสรับฟังเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และสานต่อองค์ความรู้เรื่องโรคมะเร็งให้มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ตลอดจนพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศให้ดียิ่งขึ้น และส่วนที่ 3 กิจกรรมภาคประชาชน เป็นกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และให้ความรู้แก่ประชาชนในด้านการส่งเสริมการดูแลเชิงป้องกันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมส่วนภาคประชาชน ภายใต้แนวคิด “ยุทธการต้านมะเร็ง” มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็ง โดยการให้ความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง การตรวจคัดกรองโรคเพื่อให้การวินิจฉัยมะเร็งได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และการดูแล รวมถึงการฟื้นฟูและให้กำลังใจผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งแล้วให้สามารถดูแลตัวเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมภาคประชาชนในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบบูรณาการ โดยความร่วมมือกันเพื่อผลักดันเชิงนโยบายที่จะต่อสู้กับมะเร็งในระดับชาติ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาและการให้บริการอย่างเป็นธรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน

สำหรับการจัดงานวิ่ง ครั้งนี้ เป็นการวิ่งเชิงสัญลักษณ์ เพื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมวิชาการ และกระตุ้น ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ รวมถึงการกระตุ้นให้หันมาใส่ใจออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมแสดงความเห็นในแคมเปญ มันจะดีถ้า…เพื่อแสดงพลังในการต่อสู้กับมะเร็ง สะท้อนความคิด ของทุกท่าน แล้วร่วมมือผลักดันให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพราะ “วิกฤตมะเร็งเปลี่ยนได้ด้วยความร่วมมือ”

การจัดกิจกรรมภาคประชาชนนี้ จะดำเนินไปพร้อมกับกิจกรรมวิชาการหลัก ในวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2562 เวลา 11.00-20.00 น. ในบริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โซนเอเทรียม (Atrium zone) ชั้น 3 โดยรูปแบบของการกิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการและกิจกรรมเวทีเสวนาสุขภาพให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องมะเร็งในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น สมุนไพรกับมะเร็ง ความเชื่อเกี่ยวกับมะเร็ง การดูแลตนเองเพื่อให้ห่างไกลมะเร็ง การประเมินความเสี่ยง และการสาธิตการตรวจคัดกรองมะเร็ง โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกสถาบันร่วมกับกลุ่มศิลปินดาราเข้าร่วมกิจกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกเหนือจากการประชุมวิชาการที่จัดขึ้นเพื่อแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรม ที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเผยแพร่พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ คือ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะเป็นการจัดแสดงเนื้อหาหลักที่เกี่ยวกับ / พระประวัติ / เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ / ทูลกระหม่อมอาจารย์ /พระกรณียกิจด้านวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ / โครงการภายใต้ร่มพระบารมี / และพระกรณียกิจด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 4 สถาบันที่เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการ โดยนำเสนอเป็นอังกฤษทั้งหมด เพื่อสอดคล้องกับการประชุมวิชาการนานาชาติ โดยรูปแบบนิทรรศการประกอบไปด้วยบอร์ดนิทรรศการ และ Interactive Zone นิทรรศการเฉลิมพระเกียรตินี้ จะจัดแสดงบริเวณ Pre-Function ชั้น 22 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้จัดไว้ให้เฉพาะ ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการเท่านั้น

ท้ายสุดนี้ ขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการจัดงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ และขอเชิญพบกับกิจกรรมต่างๆ ภายในงานประชุมวิชาการในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2562