“รอยสัก” มีความผูกพันกับผู้คนหลายช่วงอายุและหลากเชื้อชาติ สะท้อนให้เห็นจากภาพยนตร์แนวมาเฟีย ยากูซ่า นับจากอดีตจนปัจจุบัน ที่ตัวละครทั้งตัวหลัก-ตัวร้ายต่างสักจนลายพร้อย แต่ทว่า หลายคนยังอยู่ในห้วงคำถามที่ชวนขบคิดว่า การสักนั้นดีอย่างไรและสักไว้เพื่ออะไร

หากนั่งไทม์แมชชีนย้อนอดีตเรื่องของ “รอยสัก” จะพบว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้ตัดสินคนจากรอยสัก แต่เป็นศิลปะบนเรือนร่างที่ตั้งใจแฝงความหมายในหลากมิติ ทั้งสังคมวัฒนธรรม ความกล้าหาญ เกียรติยศ และคติความเชื่อ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์ ซึ่ง นิทรรศการ “สักสี สักศรี Tattoo COLOR Tattoo HONOR” ภายใน สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) นิทรรศการระดับโลกที่เปิดให้เข้าชมฟรี! พร้อมที่จะพาคุณไปปลดเปลื้องทุกมายาคติ และอินไซต์ทุกนิยามรอยสัก 3 ชาติพันธุ์ ชาวไท่หย่า (Atayal) ชาวไผวัน (Paiwan) จากไต้หวัน และชาวล้านนาไทยในบรรยากาศที่อบอวลด้วยมนต์ขลังและอาร์ตอินสตอลเลชั่นหายาก (Art Installation) ที่น่าสนใจจำนวนมาก

  • รอยประทับสีรุ้งที่ใบหน้า สะพานเชื่อมจิตใจของชาวไท่หย่า

ก่อนที่ไต้หวันมาถึงจุดที่สภาพบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในอดีตเป็นถิ่นอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งรกรากบริเวณทางตอนเหนือของไต้หวัน เรียกว่า ไท่หย่า (Atayal) ที่สร้างวัฒนธรรมของตนเองและมีรอยสักที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การสักหน้า ด้วยลวดลาย “รอยประทับสีรุ้ง” บริเวณหน้าผากและโหนกแก้ม ซึ่งตามตำนานของชาวไท่หย่าเชื่อว่าผู้ที่มีรอยสักบนใบหน้าเท่านั้น ที่จะสามารถข้ามสะพานแห่งสายรุ้งไปสู่โลกหลังความตายและยังได้ไปพบกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย โดยการสักของชาวไท่หย่ายังหมายถึงเครื่องหมายที่แสดงถึงการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของชาวไท่หย่าอย่างแท้จริง ซึ่งผู้หญิงที่จะได้รับการยอมรับจะต้องมีฝีมือในการทักทอและการเพาะปลูก

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานการสักบริเวณคางในผู้ชายบางคนซึ่งหาได้ยาก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายชาตินักรบ ที่มีความแข็งแรง สามารถล่าสัตว์ใหญ่ได้ อย่างไรก็ดี สำหรับลายสักบริเวณใบหน้าของชาวไทหย่า จะปรากฏให้เห็นเป็นภาพผ้าใบผืนใหญ่ ที่เรียงรายรอบนิทรรศการ ในรูปแบบที่หลากหลายอิริยาบถ

(ภาพที่ 1 ลายสักบริเวณหลังมือของผู้หญิง, ภาพที่ 2 ลายสักบริเวณหน้าอกและหลังแขน, ภาพที่ 3 หุ่นไม้แกะสลัก ลายสักบริเวณมือของผู้หญิง)

  • รอยสักที่บ่งบอกชนชั้นและศักดิ์ศรีของชาวไผวัน

อีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเก่าแก่ของไต้หวัน คือ ไผวัน (Paiwan) ซึ่งพบหลักฐานการมีตัวตนอยู่ทางตอนใต้ โดยชาวไผวันมองว่ารอยสักถือเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และสถานะทางสังคม ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากหัวหน้าเผ่าก่อน หากใครที่สักลายโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกลงโทษหรือถูกกีดกันจากคนในเผ่า โดยผู้ชายจะสักเป็นแนวยาวบริเวณหน้าอก หลังแขน ไปจนถึงแผ่นหลัง คล้ายกับเครื่องแต่งกายของบุคคลชั้นสูง ส่วนผู้หญิงจะสักบริเวณหลังมือ โดยมีลวดลายที่มีความพิเศษเฉพาะเจาะจงคือ รูปคน ซึ่งหมายถึงชนชั้นปกครองเท่านั้นถึงจะสามารถสักลายนี้ได้ ดังนั้น การสักของชาวไผวันจึงหมายถึงการมีตัวตนและเป็นสิ่งที่ปรากฎบนร่างกายไปตลอดชีวิต ซึ่งลวดลายบริเวณหลังมือของหญิงชนชั้นสูง ได้ปรากฎให้เห็นจริงภายในนิทรรศการ บริเวณ “หุ่นไม้แกะสลัก” ที่ได้รับอนุญาตจาก “พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน” มาจัดแสดง

  • รอยสักขาลายสัตว์หิมพานต์ รากเหง้าสังคมเพศชายชาวล้านนา

ภายในนิทรรศการสักสี สักศรี ยังมีเรื่องราวรอยสักของอีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง ที่ต้องอดทนต่อความเจ็บปวด และมีอิทธิพลต่อสังคมเพศชายของชาวล้านนามายาวนานกว่าร้อยปี จนกระทั่งในปัจจุบันกลายเป็นวัฒนธรรมที่กำลังไร้การสืบทอด และปรากฎให้เห็นเฉพาะในกลุ่มผู้ชายสูงอายุเท่านั้น ซึ่งลวดลายที่พบส่วนใหญ่จะเป็นลายสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อจากศาสนาพุทธและฮินดู อาทิ สิงโต ค้างคาว นกกาบบัว เสือ ช้าง ลิงและหนุมาน ภายในกรอบสี่เหลี่ยมหรือทรงมน ตั้งแต่เอวถึงขา ซึ่งชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าการสักขาลายเป็นการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีของลูกผู้ชาย และผู้หญิงชาวล้านนาจะให้ความสนใจกับผู้ชายที่มีรอยสักที่ขา โดยเฉพาะผู้ที่มีรอยสักลายสิงห์มอม ที่มีดวงตาขนาดใหญ่ จ้องมองด้วยสายตาที่น่าเกรงขาม ใบหน้ารูปสามเหลี่ยมคล้ายลิง ลำตัวยาวยืดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งเป็นนัยยะของความมีเสน่ห์ ความกล้าหาญ มีความเป็นผู้นำ

ทั้งนี้ รอยสักขาลาย จะปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดบริเวณหุ่น 3 ตัว ที่ยืนเรืองแสงอยู่กลางนิทรรศการ พร้อมด้วยโมบายด้านบน ในลักษณะของลวดลายที่ชายชาวล้านนานิยมเป็นอย่างมาก อาทิ ลายดอกไม้ และตัวมอมหรือสิงโต

แน่นอนว่าการสืบค้นประวัติความเป็นมา รวมถึงการค้นคว้าหาความหมายที่แท้จริงของวัฒนธรรมการสักของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังสูญหาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆก็สามารถทำได้ เพราะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ จารีตประเพณี ในการตรวจสอบหลักฐานและคำบอกเล่าจากบุคคลในพื้นที่ ดังนั้น งานนี้ใครไม่ไปไม่รู้ ใครไม่ดูก็จะไม่ได้เห็น จึงเป็นโอกาสที่ดีของคนไทย ที่จะได้เข้าชมนิทรรศการที่อัดแน่นด้วยความรู้เชิงวัฒนธรรมของไทยและไต้หวัน ที่ควรค่าต่อการเดินทางไปชม ให้รู้แจ้งเห็นจริงกับเรื่องราวรอยสักของทั้ง 3 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ล้วนแต่ไม่ธรรมดา ด้วยตัวเลขผู้เข้าชมตั้งแต่เริ่มเปิดนิทรรศการถึงปัจจุบันกว่า 50,000 คน โดยมิวเซียมสยาม เปิดให้ชมฟรีถึงวันที่ 27 ตุลาคมนี้ ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 ซึ่งเดินทางง่ายด้วย MRT สถานีสนามไชย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 เว็บไซต์ www.museumsiam.org หรือ www.facebook.com/museumsiamfan