วันนี้ (3 มิ.ย. 60) เวลา 14.00 น. นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมการขับเคลื่อนแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ พร้อมบรรยายพิเศษและมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งปล่อยขบวนรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านสตรี

และเด็ก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน องค์กรสตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ส่วนราชการในจังหวัดเชียงราย และสื่อมวลชน โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาขับเคลื่อนบูรณาการเชิงพื้นที่ “ประชารัฐร่วมใจ ป้องภัยสตรีและครอบครัว” ภายใต้กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว ประจำปี 2560 ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

นายไมตรี กล่าวว่า “การค้ามนุษย์” นับเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง โดยรัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป ซึ่งในปี 2559 มีการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ทั้งหมดจำนวน 333 คดี พบว่าร้อยละ 75 เป็นคดีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบการค้าประเวณี รองลงมาเป็นคดีบังคับใช้แรงงาน และการแสวงหาประโยชน์จากการนำคนมาขอทาน และในปี 2559 จากรายงานประจำปี ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report – TIP Report) ได้เลื่อนอันดับให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังคงให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวง พร้อมทั้งเพิ่มระดับของความเข้มข้นในการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนงานด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า กระทรวงพม. โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก 11 ด้าน ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก (ศสด.) การเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การเพิ่มจำนวนล่ามการเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงการทบทวน MOU และกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้นการค้ามนุษย์ข้ามชาติ การจัดระเบียบสถานบริการและพื้นที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดจากการค้าบริการทางเพศ (SEX TOURISM) การขจัดสิ่งยั่วยุให้เกิดการค้ามนุษย์ (สื่อลามก) พัฒนาสถานที่รองรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาคุณภาพบุคลากรที่ดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
นายไมตรี กล่าวต่ออีกว่า กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัว พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านสตรี
ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงได้จัดการสัมมนาขับเคลื่อนบูรณาการเชิงพื้นที่ “ประชารัฐร่วมใจ ป้องภัยสตรีและครอบครัว” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลสำเร็จการดำเนินงานบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหา
การค้ามนุษย์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้ง เพื่อรณรงค์สร้างกระแสให้สังคมตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยเฉพาะด้านสตรีและเด็ก

สำหรับการจัดงานครั้งนี้
มีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย 1) การออกบูธนิทรรศการการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จำนวน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย One Home เชียงราย สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงราย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Jica) มูลนิธิศุภนิมิต และมูลนิธิเดสทินี่เรสคิว สำนักงานเชียงราย 2) กิจกรรมเดินรณรงค์สร้างแสต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก และ 3)​การลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์และการดำเนินงานด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ตามแนวตะเข็บชายแดน​ “ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามแนวตะเข็บชายแดนอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในสังคม และให้ทั้งสตรี ครอบครัว และทุกคนได้รับการคุ้มครอง ได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ในการขับเคลื่อนงานตามบทบาทของตนเองโดยเฉพาะสามพลังที่สำคัญ คือ ภาครัฐ สื่อมวลชนและประชาสังคม ร่วมกันทำงานในนามของ “พลังประชารัฐ” เพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์หมดไปจากสังคมไทย

บรรยากาศการเดินขบวนรณรงค์

ท่านปลัดเข้าชมพื้นที่สถานที่ออกหนังสือผ่านแดน อำเภอเเม่สาย จังหวัดเชียงราย

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้ โดยแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมงและหากนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำความผิด จะได้รับเงินค่าตอบแทนตามฐานความผิดอีกด้วย” นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย